หอยแครงมาเลเซียเสี่ยงขาดทุนยับ
นสพ.เดอะ สตาร์ของมาเลเซียรายงานเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ว่า อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงหอยแครงมูลค่าหลายร้อยล้านริงกิตกำลังเสี่่ยงจนอาจล่มสลาย
ขณะที่กรมประมงต้องการให้รัฐบาลออกคำสั่งห้ามเก็บผลผลิตหอยช่วงฤดูหอยเพาะพันธุ์เพื่อช่วยรักษาสมดุลปริมาณหอยแครงที่ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ช่วงที่ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ในปี 2548 มาเลเซียผลิตหอยแครงได้มากถึงแสนตันสำหรับการบริโภคภายในและส่งออก แต่เมื่อปีที่แล้ว เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงผลิตหอยแครงได้รวมกันแค่ 16,000 ตัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่งสถาบันวิจัยประมงของมาเลเซีย เผยว่า รัฐที่เพาะเลี้ยงหอยแครงรายใหญ่ 3 แห่ง ประกอบด้วย ซลังงอร์ เประและยะโฮร์ ต่างได้รับผลกระทบจากมลพิษ ทำให้สถิติการตายในหอยแครงตัวโตเต็มวัยและลูกหอยแครงมีสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ต้องซื้อถึงกิโลกรัมละ 10-15 ริงกิต หรือราว 87- 130 บาท เทียบกับช่วงก่อนๆ ที่ขายกิโลกรัมละแค่ 2-3 ริงกิต หรือราว 17-26 กว่าบาทเท่านั้น
เจ้าหน้าที่คนเดิม ระบุต่อไปด้วยการยอมรับถึงความสำคัญของการเป็นแหล่งอาหารและมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตการเป็นอยู่ของชาวประมง หน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจ (อีพียู) จึงจัดสรรงบประมาณ 500,000 ริงกิตทำการศึกษาวิจัยนานหนึ่งปีหาแนวทางฟื้นฟูอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงหอยแครงในรัฐซลังงอร์ ซึ่งพัฒนาปริมาณการเพาะเลี้ยงจนแซงหน้ารัฐเประ เจ้าของสถิติเดิม แต่ปีที่แล้วผลผลิตที่รัฐซลังงอร์กลับมีแค่ 3,327 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงที่ปริมาณผลผลิตสูงสุดหรือช่วงพีคที่ทำได้มากถึง 40,000 ตัน
ส่วนที่มีงานวิจัยโดยกรมประมงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรนานาชาติของญี่ปุ่น ที่ได้ข้อแนะนำต่างๆ รวมทั้งกำหนดเขตเก็บเกี่ยวผลผลิตหอยแบบถาวรเพื่อช่วยให้หอยเพาะแพร่พันธุ์ได้ตามธรรมชาตินั้นเจ้าหน้าที่มาเลเซียระบุว่าข้อแนะนำเหล่านี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการรวม ต้องได้รับการเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าชาวประมง ผู้เพาะเลี้ยงรวมทั้งกลุ่มผู้ขาย “ฉ่าก๋วยเตี๋ยว” (ก๋วยเตี๋ยวผัดหรือผัดไทยมาเลย์) อาหารประเภทเส้นยอดฮิตที่คนนิยมกินกับหอยแครง และเมื่อแผนบริหารจัดการใช้ได้ผลในรัฐซลังงอร์แล้วก็จะนำไปรับใช้แก้ปัญหาที่รัฐเประและยะโฮร์ต่อไป แต่หากล้มเหลวคงต้องพึ่งการเพาะลูกหอยในห้องแล็ปซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่า.