อี-คอมเมิร์ซเวียดนามโตเร็ว
เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซในเวียดนามมีผลประกอบการพุ่งสูงถึง 45% ในปี 2558 และมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นถึง 30%
โดยใน 10 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ยอดขายของ 839 เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซในเวียดนามสูงประมาณ 11.6 ล้านล้านด่อง เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายเดิมคือ 8.1 ล้านล้านด่องในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557
ผลการสำรวจ 105 เว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าอี-คอมเมิร์ซ และฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศพบว่า 89% ของเว็บไชต์เหล่านี้มีการโพสต์ขายสินค้าและส่วนที่เหลือเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการให้บริการ
โดยส่วนใหญ่ของเว็บไซต์จำนวนนี้มีที่ตั้งอยู่ในกรุงโฮจิมินห์ (44%) หรือนครฮานอย (40%) โดย 97% เป็นเว็บไซต์ของบริษัทในเวียดนาม 2% เป็นของนักลงทุนต่างชาติ และ 1% เป็นของภาครัฐ
ทั้งนี้ ผลสำรวจชี้ว่า 13% ประกอบธุรกิจทั้งในตลาดต่างประเทศและในประเทศ 8% เน้นตลาดในจังหวัดเดียว และอีก 3% เน้นแต่ตลาดต่างประเทศเท่านั้นประมาณ 62% ประกอบธุรกิจบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะบนเฟซบุ๊กมีปริมาณสูงถึง 70%
โดยสินค้าที่นิยมนำมาขายออนไลน์มากที่สุดคือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน สินค้าอิเล็คโทรนิกส์และดิจิทัลและอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน มีสัดส่วนถึง 23% ของสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับมีสัดส่วนถึง 23% ด้วยเช่นกัน ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ 12 % อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน 10% และที่พักและการท่องเที่ยว 8%
เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้แก่ pico.vn, lazada.vn, thegioididong.com, esale.zing.vn, fptshop.com.vn, nguyenkim.com, hc.com.vn, และ dienmaycholon.vn.
โดย 67% ของเว็บไซต์เหล่านี้ให้ความเห็นว่า ลูกค้ามักจะกลับมาใช้บริการซ้ำเป็นครั้งที่ 2
ทั้งนี้ มากกว่า 50% ของเว็บไซต์ที่อยู่ในการสำรวจให้ข้อมูลว่า รายได้หลักที่สำคัญมาจากโฆษณา ขณะที่ 23% มาจากค่าสั่งสินค้า และ 12-18% มาจากค่าสมาชิก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีตัวเลขการเติบโตที่แข็งแกร่งในปี 2558 แต่เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซเหล่านี้กำลังเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินการ เช่น ประมาณ 31% ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนคนทำงานที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหากพิจารณาถึงจำนวนประมาณ 200,000 เว็บไซต์ในปัจจุบัน และต่างต้องการคนเก่งด้านไอทีอย่างน้อย 1 คนประจำเว็บไซต์แต่ละแห่ง
อ้างอิงจาก vietnamworks.com อุปสงค์ในด้านผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ต/ออนไลน์เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายปีมานี้
นอกจากนี้ ในผลสำรวจยังชี้ว่า 25% ของเว็บไซต์เหล่านี้เชื่อว่า ลูกค้าที่ไม่เชื่อในคุณภาพของสินค้าที่ขายออนไลน์ หรือลูกค้าที่กังวลเกี่ยวกับการจ่ายเงินออนไลน์จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้
ขณะที่ 22% เชื่อว่า ค่าขนส่งสินค้ายังมีราคาสูงเกินไป และอีก 20% บ่นเกี่ยวกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในบรรดาเว็บไซต์ด้วยกันเอง.
หมายเหตุ 1,000 ด่อง = 1.67 บาท วันที่ 10 พ.ค. 2559