ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์จีดีพีบรูไน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของบรูไนจะหดตัวลงเหลือ 2% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน ต.ค.2558 ว่าบรูไนจะมีตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.2% ในปี 2559
อ้างอิงจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก คาดการณ์ว่าตัวเลขจีดีพีของบรูไนยังคงมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มมีผลมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
แต่ทางไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของบรูไนจะฟื้นตัวได้ในปี 2560 โดยตัวเลขจีดีพีจะขยายตัวมาอยู่ที่ 3% ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าที่เคยตั้งเป้าไว้ในเดือน ต.ค. 2558 ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.9%
ในรายงานของไอเอ็มเอฟ ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของบรูไนหดตัวลงมาเพียง 0.2% ในปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ว่าจะมีการหดตัวถึง 1.2% ในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ สถาบันไอเอ็มเอฟที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซีรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนจะยังไม่คงที่สม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นถึงระดับในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่างกันในแต่ละประเทศ
สำหรับเศรษฐกิจในประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ ไอเอ็มเอฟประเมินว่า วงจรการเงินและอสังหาริมทรัพย์และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ การลดลงของตลาดทุนยังคงก่อให้เกิดความอ่อนไหวในกลุ่มนักลงทุน
ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า ตัวเลขจีดีพีของอินโดนีเซียจะอยู่ที่ 4.9% ในปี 2559 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% ในปี 2560 โดยคาดการณ์ว่าการส่่งออกจะยังคงซบเซาจากราคาโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ อุปสงค์ในประเทศยังถดถอยแต่จะได้แรงหนุนสำคัญจากการลงทุนของภาครัฐที่แข็งแกร่ง
ในประเทศไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเล็กน้อยขึ้นมาเป็น 3% ในปี 2559 และขยับขึ้นเป็น 3.2% ในปี 2560 จากการใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้นและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว
อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งยังคงหนุนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขจีดีพีจะอยู่ที่ 6% ในปีนี้ และพุ่งไปแตะ 6.2% ได้ในปี 2560
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของมาเลเซียจะชะลอตัวเป็น 4.4% ในปี 2559 ก่อนที่จะฟื้นตัวเป็น 4.8% ได้ในปี 2560 คาดการณ์ว่าอุปสงค์ในประเทศยังคงถดถอย และอาจต้องมีมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมออกมาสนับสนุนเห็นได้ชัดว่า การลงทุนชะลอตัวจากการส่งออกที่ซบเซา ราคาโภคภัณฑ์ตกต่ำและความไม่มั่นคงทางการเมือง
การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดและตั้งเป้าว่าจะมีตัวเลขจีดีพีเพียง 1.8% ในปีนี้ และจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 2.3% ในปี 2560 โดยการขยายตัวของสิงคโปร์ถูกบีบจากแรงงานที่สูงวัยขึ้น การเข้มงวดกับแรงงานข้ามชาติ และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ่านของประเทศ
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเวียดนามจะมีการขยายตัวสูงถึง 6.3% ในปีนี้จากรายได้จากการส่งออกและเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยตัวเลขจีดีพีจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.2% ในปี 2560.