ส่งออกบรูไนทรุดเกือบ 30%
กรมวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจ (JPKE) รายงานข้อมูลล่าสุดว่า ยอดส่งออกบรูไนเดือนก.พ.ดิ่งฮวบลงถึง 29.7% มามีมูลค่าอยู่ที่ 504.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับยอดส่งออกในเดือนม.ค. ที่สูงถึง 718.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยสินค้าส่งออกสำคัญของบรูไน ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมียอดส่งออกถึง 468.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.พ.
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของบรูไนคือญี่ปุ่น คิดเป็น 34.7% ของยอดส่งออกทั้งหมดตามมาด้วยเกาหลีใต้ (25.9%), มาเลเซีย (11.2%) และไต้หวัน (8.1%)
การนำเข้ามีมูลค่า 240.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.พ. ลดลง 37.3% จากยอด 384.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนม.ค. โดยทาง JPKE รายงานว่า การนำเข้าลดลงในส่วนเชื้อเพลิงธรรมชาติ (77.1%) ธุรกรรมอื่นๆ (63.6%) และสินค้าเพื่อการผลิต (53%)
โดยมากกว่า 20% ของสินค้านำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย รองลงมาคือสิงคโปร์ (17.3%) จีน (13.3%) และสหรัฐอเมริกา(9.9%)
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ดุลการค้าของบรูไนในเดือนก.พ. อยู่ที่ 264.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในขณะเดียวกัน สวนทางกับยอดส่งออกที่ทรุดฮวบ ผู้ประกอบการภายในประเทศบรูไนกลับมีความกระตือรือร้นที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น
โดยทางผู้ประกอบการมีแผนจะใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและวิธีการทางธุรกิจที่ได้จากการเข้าร่วมเวิร์คช็อปที่จัดโดยกรมวิชาการเกษตรและอาหาร (DAA) เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและกระตุ้นยอดขาย
นายเอชเจ เอบีดี ฮาลิม ซาอิม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปในครั้งนี้กล่าวว่า “ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทัยสมัยขึ้น เราคงจะพึ่งพาแรงงานคนน้อยลง”
นายฟิล ออง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของซุน ลี ฟาร์มแอนด์เทรดดิ้ง กล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาที่จะส่งออกสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากไข่ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยทางบริษัทจะทำงานร่วมกับตัวแทนจากรัฐบาลเพื่อการวิเคราะห์อันตรายและการควบคุมจุดวิกฤติ (HACCP) และใบอนุญาตอาหารฮาลาลเพื่อเข้าถึงตลาดต่างประเทศที่ดีขึ้นและกว้างขวางมากขึ้น
นับเป็นแนวโน้มที่ดี หากบรูไนจะมีสินค้าส่งออกที่แตกต่างและหลากหลายเพิ่มขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาแต่การส่งออกน้ำมันและก๊าซเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 35.22 บาท วันที่ 21 เม.ย. 2559.