เวียดนามเผชิญแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี

เวียดนามเผชิญความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบหนึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำถูกน้ำทะเลรุกคืบกินพื้นที่ส่งผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตรมากกว่า 13.5 ล้านไร่
สถานการณ์ภัยแล้งช่วงปี 2558 -2559 ใช่เกิดขึ้นแต่เฉพาะเมืองไทย หากก่อผลกระทบถึงเกือบทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไล่ตั้งแต่กัมพูชา สปป.ลาว ไทย เมียนมาและเวียดนาม
นายเหงียน วาน ทินห์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน สังกัดกระทรวงเกษตรเวียดนาม ระบุพื้นที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ถิ่นพำนักของชาวเวียดนามมากกว่า 20 ล้านคน ทั้งถือเป็นแหล่งเพาะสำคัญของประเทศกำลังเผชิญวิกฤติการณ์แล้งและน้ำทะเลหนุนสูง ก่อความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูกบริเวณกว้าง เพราะความเค็มของน้ำทะเลรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินมากขึ้น โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำกินอาณาบริเวณกว้างถึงกว่า 13.5 ล้านไร่
แนวทางการแก้ปัญหานี้ของรัฐบาลเวียดนามยังไม่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพียงพอ ทางการต้องเรียกร้องถึงชาวบ้านให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและกักตุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่าใช้น้ำทำการเกษตร ขณะที่รัฐบาลต้องทุ่มเงินช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำทะเลรุกล้ำพื้นที่มากถึงกว่า 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปี 2556 -2557 เวียดนามก็เผชิญภัยสภาพอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบถึงการเพาะปลูกพืชข้าวและกาแฟทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงมากกว่าช่วงทศวรรษ1970 มากราว 3 เท่า ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งจัดการออกแบบสร้างระบบชลประทานใหม่เพื่อแก้ปัญหาทุเลาลง แต่ยังเผชิญสภาพอากาศแล้งอย่างต่อเนื่องจากผลของปรากฏการณ์ธรรมชาติเอล นิญโญ ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งล่าสุดนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เวียดนามเคยเพาะปลูกข้าวได้มากกว่าปีละ 3 ครั้ง แต่ปัจจุบันเวียดนามครองตำแหน่งชาติส่งออกข้าวและกาแฟมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากไทยและบราซิล.