อินโดนีเซียปฎิรูปพลังงาน

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ได้ออกคำสั่งให้ทีมทำงานบริหารในภาคส่วนพลังงานเร่งสำรองเชื้อเพลิงในคลังทันทีเพื่อคว้าโอกาสทำกำไรจากราคาน้ำมันขาลงทั่วโลก โดยการตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากราคาน้ำมันตกต่ำมานานถึง 2 ปี
ตามแนวทางของประธานาธิบดี อินโดนีเซียควรพัฒนายุทธศาสตร์ที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภาคพลังงานและอาหารเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะมาถึงในอนาคต โดยอินโดนีเซียควรจะฉวยโอกาสจากราคาน้ำมันตกต่ำเพื่อซื้อเชื้อเพลิงให้มากที่สุด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต ประธานาธิบดีโจโควี่ กล่าวว่า
“ผมมักจะย้ำอยู่เสมอ เรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เรา ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี”
ประธานาธิบดีโจโควี่ แถลงที่กรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 29 ก.พ.ว่า “เนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำ บริษัทน้ำมันที่เป็นของรัฐบาล และกระทรวงที่กำกับดูแล ควรพิจารณาเรื่องการเร่งซื้อเชื้อเพลิงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ทั้งในประเทศและนอกประเทศ”
หากราคาน้ำมันขยับขึ้น อินโดนีเซียก็จะมีคลังสำรองพลังงานที่มั่นคง เขากล่าวว่า “ควรจะมีการวางแผนที่ดีในเรื่องนี้” ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบทรุดลงทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยลดดิ่งลงจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นายซูดีร์แมน ซาอิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ทางกระทรวงได้มีการเตรียมพร้อมในการจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน โดยการจัดสรรกองทุนพร้อมเสนอให้พิจารณาเพื่อแก้ไขงบประมาณของปี 2559 เขากล่าวว่า
“ในส่วนการปรับทบทวนงบประมาณ ทางกระทรวงได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ในกรณีที่จำเป็น จะมีการจัดซื้อเชื้อเพลิงตามยุทธศาสตร์ โดยมีการร้องขอให้กระทรวงทำแผนเพื่อพิจารณาในอนาคตอันใกล้”
ในโอกาสเดียวกัน ประธานาธิบดีผลักดันให้กระทรวงเร่งพัฒนาโครงการเสนอราคาประมูลในการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันเพื่อตัดห่วงโซ่อุปทานที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ค้าน้ำมัน โดยเขากล่าวว่า
“ต้องมีการตัดสินใจภายในปีนี้เรื่องโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อแก้ไขเรื่องซัพพลายเชน”
กระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายงานว่า มีอย่างน้อย 7 ประเทศแล้วที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในกิจการโรงกลั่นน้ำมันของอินโดนีเซียได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต รัสเซีย จีน อิรัก อิหร่านและประเทศไทย
นอกจากนี้ ทางกระทรวงยังได้เดินหน้าทำสัญญามูลค่า 3 ล้านล้านรูเปียห์กับบริษัทที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และความร่วมมือจากภาคเอกชนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของปี 2559
ทั้งนี้ สัญญาที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 29 ก.พ.นับเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ และมีมูลค่ามากที่สุด โดยก่อนหน้านี้ มีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 14 ม.ค. และ 2 ก.พ. มีมูลค่ารวมกันถึง 545,000 ล้านรูเปียห์
สัญญาที่ลงนามแล้วคือ สัญญาก่อสร้างสถานีก๊าซธรรมชาติ โครงข่ายการวางท่อก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าจากขยะ และโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพโดยสัญญาก่อสร้างที่มีมูลค่าสูงสุดคือ 493,000 ล้านรูเปียห์ เป็นโครงการวางท่อก๊าซในเมืองปราบูมูลิที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา.