เงินเฟ้ออินโดฯ ต่ำกว่าคาด

ธนาคารแห่งอินโดนีเซีย ประเมินว่าราคาน้ำมันที่ดิ่งลงจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในปีนี้ ลดลงไปต่ำกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายจูดา เอจัง ประธานบริหารธนาคารกลางแห่งอินโดนีเซีย กล่าวในงานประชุมที่จัดขึ้นโดยนิตยสาร “ดิ อิโคโนมิสท์’ ในกรุงจาการ์ตาว่าผลกระทบด้านบวกจากราคาน้ำมันขาลงก็คือเงินเฟ้อ โดยก่อนหน้านี้ เราคาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 4.4% แต่จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันยังคงเป็นขาลง เงินเฟ้อก็ลดต่ำลงไปด้วย
ในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดับบลิวทีไอยืนพื้นอยู่ราวๆ 32 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,120 บาทต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 34 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,190 บาทต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันทรุดฮวบลงมามากกว่า 70% นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2557
องค์การพลังงานสากล คาดการณ์ว่า น้ำมันดิบเบรนท์จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 38 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,292 บาทต่อบาร์เรลในปีนี้ และจะขยับขึ้นเป็น 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,750 บาทต่อบาร์เรลในปี 2560 จาการคาดการณ์ล่าสุด เงินเฟ้ออาจลดลงไปอยู่ที่ 4% ตลอดปี 2559 นี้ หากราคาน้ำมันยังคงอยู่ที่ 35-37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยการประเมินใหม่นี้ต่ำกว่าตัวเลข 4.7% ที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้
นายจูดา ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันขาลงจะส่งผลให้ อินโดนีเซียมีดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่สมดุลมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามถึงแม้ราคาน้ำมันทั่วโลกจะลดลงครั้งล่าสุด แต่รัฐบาลก็ยังไม่ปรับราคาขายน้ำมันในการบริโภคลง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า สูงกว่าราคาในตลาดโลก โดยราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้ต้นทุนคมนาคมลดลงไปด้วย ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินเฟ้อลดต่ำลงได้อีก
ทั้งนี้ราคาน้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียเดือนม.ค. อยู่ที่ 7,150 รูเปียห์ต่อลิตร ลดลงมาจาก 7,300 รูเปียห์ต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 5,950 รูเปียห์ต่อลิตร ลดลงจากเดิมคือ 6,700 รูเปียห์ต่อลิตร
ข้อมูลจากสำนักสถิติกลางแสดงว่า ราคาน้ำมัน (ซึ่งส่งผลต่อครัวเรือน ประปา ไฟฟ้า แก๊ส) เป็นปัจจัยสำคัญลำดับที่ 2 ที่ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้น 3.34% จากปี 2557 อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ และนักเศรษฐศาสตร์มองว่า อาหารจะยิ่งมีบทบาทมากกว่าน้ำมันในเรื่องตัวเลขเงินเฟ้อในอนาคต
นายจูนิแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเมย์แบงค์อินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า รัฐบาลต้องมีอาหารในคลังเพียงพอเพื่อจะควบคุมราคาอาหารให้มีประสิทธิภาพ เขากล่าวว่า
“หากดูข้อมูลในเดือนม.ค.หลังจากรัฐบาลลดราคาเชื้อเพลิง อินโดนีเซียยังคงมีเงินเฟ้อสูงอยู่ เพราะราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น”
ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนม.ค.คือ 4.1% โดยราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้น 6.6% ต่อปี
นายอัลเดียน ทาโลปุตรา นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์อินโดนีเซีย ให้ความเห็นว่า การปรับราคาอาหารเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะรัฐบาลไม่มีทางเลือกมากนักในการลดราคาเชื้อเพลิง เขากล่าวว่า
“ผมคาดหวังว่าจะมีการลดราคาเชื้อเพลิงลงอีก 5-10% เพราะถ้าลดเกิน 10% จะกระทบกับรายได้ของภาครัฐ ผมคิดว่า ในเรื่องนี้ รัฐบาลควรต้องระมัดระวัง และรอบคอบให้มาก”