อินโดนีเซียเผยแผนดึงนักลงทุนต่างชาติครั้งใหญ่
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเปิดเผยถึงแผนการครั้งสำคัญที่จะผ่อนคลายกฎข้อบังคับในการลงทุนจากต่างชาติเกือบ 50 ภาคส่วน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจเสรีนิยม
ข้อเสนอของ ประธานาธิบดีโจโควี่ ซึ่งจะช่วยคลายกฎระเบียบในธุรกิจอี -คอมเมอร์ซ ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และอีกหลายอุตสาหกรรม นับเป็นการขุดหลุมพรางดักผู้ที่จะมารับตำแหน่งผู้นำประเทศคนต่อไป เพราะเป็นการวางโครงสร้างที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง
แผนการดำเนินงานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างสูงในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและการจ้างงานให้ก้าวไกล ออกจากกรอบเดิมๆของระบบเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่พึ่งพาแต่เกษตรกรรมและการทำเหมืองแร่เป็นหลัก
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 6 ปีเนื่องจากราคาโภคภัณฑ์ตกต่ำและตัวเลขการขยายตัวทางการค้ากับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญก็ไม่ปรับเพิ่มขึ้นเลย
แต่ ประธานาธิบดีโจโควี่ ให้สัมภาษณ์สื่อที่ทำเนียบประธานาธิบดีว่า เขายังคงมองในแง่บวกว่า เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะขยายตัวถึง 5.3% ในปีนี้ หลังจากปีที่แล้วเติบโตเพียง 4.8%
นายโทมัส เลมบอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า แผนการปฏิรูปครั้งสำคัญนี้เรียกว่า “ขจัดอุปสรรคในการลงทุน” ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างมากขึ้นให้กับการลงทุนจากต่างประเทศและเป็นการเตรียมให้ประเทศพร้อมสำหรับการเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)
ประธานาธิบดีโจโค กล่าวในการประชุมคณะรัฐบาลเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ว่า “เรากำลังพิจารณาเรื่องการผ่อนคลายกฎระเบียบในหลายภาคส่วน แต่จะมุ่งเน้นที่ธุรกิจ อี – คอมเมิร์ซ การดูแลสุขภาพและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีทั้งหมด 49 ภาคส่วนย่อยที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ผมจึงคิดว่า นี่เป็น การปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่”
นอกจากนี้ นายเลมบอง ยังกล่าวอีกว่า ธุรกิจค้าปลีกก็เป็นอีกภาคส่วนที่ควรจะเปิดกว้าง และจะมีการจัดระดับในการผ่อนคลายกฎใน 16 ภาคส่วนหลัก ซึ่งรวมถึง ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ พลังงาน การสื่อสารและคมนาคม
ในบางกรณี จะเป็นการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ในบางบริษัทอาจเปลี่ยน จากผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ซึ่งจะช่วยให้อินโดนีเซียเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้ข้อตกลงทีพีพี และข้อตกลงการค้าอื่น อย่างเช่นที่เคยเจรจากับสหภาพยุโรป
ในธุรกิจการดูแลสุขภาพ จะมีการเปิดกว้างให้กับการลงทุนในโรงพยาบาล คลีนิกและบริการในห้องทดลอง ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบัน บุคคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศยังไม่ได้รับอนุญาตให้รักษาคนไข้ได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รายงานว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มาลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุดในปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 20.2% โดยมีมูลค่าการลง
ทุนสูงถึง 29,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,024,800 ล้านบาทตามมาด้วยมาเลเซียและญี่ปุ่น
ประธานาธิบดีโจโควี่ กล่าวว่า เขายังไม่ได้เผชิญกับการคัดค้านทางการเมืองหรือการต่อต้านใดๆ ในการที่เขาจะนำพาประเทศไปสู่ระบบเสรีนิยมให้มากขึ้น
ประธานาธิบดีที่เคยเป็นอดีตนักธุรกิจในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์กล่าวว่า “สำหรับผม การแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญมาก”
ข้อมูลที่เผยแพร่ในสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าการลงทุนขยายตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว จากการใช้จ่ายของภาครัฐโดยในไตรมาสนี้ยังเห็นตัวเลขก้าวกระโดดของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นถึง 2.8% ในเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่มากที่สุด รองลงมาคือคมนาคม คลังสินค้าและโทรคมนาคม