แรงงานอินโดฯ ประท้วงใหญ่ต้านเลิกจ้าง
ผู้ชุมนุมชาวอินโดนีเซียนับหมื่นคนรวมตัวกันเดินขบวนที่กรุงจาการ์ตา และเมืองใหญ่อีกหลายแห่งทั่วประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 6 ก.พ. หลังบริษัทต่างชาติทยอยเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากตลอดเดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่แกนนำการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียเข้าช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างเพื่อให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมด้วย
หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ สื่อของอินโดนีเซีย รายงานว่าสหพันธ์สหภาพแรงงานแห่งอินโดนีเซีย (KSPI) เป็นแกนนำการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ถูกบริษัทต่างชาติเลิกจ้าง ซึ่งการชุมนุมใหญ่ที่สุดเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และเป็นการเดินขบวนจากวงเวียนหน้าโรงแรมอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่ในย่านธุรกิจกลางกรุงจาการ์ตา ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังถนนสายเศรษฐกิจทางทิศเหนือของกรุงจาการ์ตาซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมต่อต้านการเลิกจ้างของกลุ่มสมาชิกเคเอสพีไอในจังหวัดอื่นๆ ทั่วอินโดนีเซียเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งที่โบกอร์, บาตัม, เบกาซี, เมดาน, สุราบายา, เซมารัง และเตการัง โดยทางเคเอสพีไอประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วประเทศประมาณ 20,000-30,000 คน
นายอิกบัล ประธานเคเอสพีไอ ยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลอินโดนีเซียให้หยุดยั้งบริษัทต่างชาติไม่ให้เลิกจ้างพนักงานชาวอินโดนีเซีย รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎระเบียบด้านแรงงานฉบับใหม่ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งทางเคเอสพีไอระบุว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมระบุว่าโรงงานสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่งประกาศว่าจะลดตำแหน่งงานในอินโดนีเซียลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานในประเทศต้องตกงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลอดเดือน ม.ค.มีแรงงานชาวอินโดนีเซียถูกบริษัทต่างชาติเลิกจ้างไปแล้วประมาณ 2,000 คน
นายยูซุฟ คัลลา รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประกาศว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้คืบหน้าต่อไป เพื่อช่วยลดสถิติการเลิกจ้างที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2559 พร้อมตอบโต้ว่าผลประเมินสถิติแรงงานซึ่งถูกเลิกจ้างของนายอิกบัล และเคเอสพีไออาจเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง
ด้านสำนักข่าวแชนแนลนิวส์ เอเชีย สื่อของสิงคโปร์ รายงานข่าวการเดินขบวนประท้วงของกลุ่มแรงงานชาวอินโดนีเซียเช่นกัน โดยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทพานาโซนิก และบริษัทโตชิบาของญี่ปุ่น ได้เลิกจ้างพนักงาน 900 คนที่ทำงานให้กับโรงงานในอินโดนีเซีย ขณะที่ธุรกิจข้ามชาติอย่างบริษัทเชฟรอน แปซิฟิก อินโดนีเซีย และฟอร์ด มอเตอร์ อินโดนีเซีย เตรียมปิดโรงงานผลิตในอินโดนีเซียภายในปีนี้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เครือข่ายสหภาพแรงงานอินโดนีเซียจำนวนมากจึงต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องค่าชดเชยให้แก่แรงงานชาวอินโดนีเซีย ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินว่าค่าชดเชยแรงงานในอินโดนีเซียอาจมีอัตราค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทต่างชาติมีความลังเลที่จะมาลงทุนประกอบกิจการในอินโดนีเซีย