เมียนมายกเครื่องคณะทำงานด้านการลงทุน

ผู้สังเกตการณ์ในวงการอุตสาหกรรมเมียนมากล่าวว่า รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องกำหนดนโยบายใหม่และปฏิรูปคนทำงานให้เหมาะสมกับตำแหน่งในคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา (MIC)
นางอองซาน ซูจีผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของเมียนมาในปีนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่คัดสรรคนทำงานที่มีความสามารถให้เหมาะสมกับตำแหน่งในคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นายหม่อง หม่อง เลย์ รองประธานของสหภาพสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา ให้ความเห็นว่า”เอ็มไอซีควรจะมีผู้กำหนดนโยบายในการทำงานใหม่ คนที่มีความรู้ความสามารถเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและการบริหารการลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้สมดุล”
นับตั้งแต่รัฐบาลทหารกึ่งพลเรือนเข้ามาปกครองประเทศในปี 2554 คณะทำงานในเอ็มไอซีซึ่งมีบทบาทในการร่างกฎหมายการลงทุนต่างประเทศปี 2531 ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาเป็นคณะกรรมการจำนวน 16 คน ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเสนอทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่แล้ว คณะทำงานกลุ่มนี้ ยังคงได้รับอิทธิพลจากอดีตผู้นำทางทหาร
นายหม่อง หม่อง เลย์ กล่าวว่า “ผู้บริหารระดับผู้นำกลุ่มนี้ ควรมีประสบการณ์ในการลงทุนและการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ นอกจากนี้ พวกเขาควรมีความเข้าใจในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย”
เนื่องจากต้องทำงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะทำงานจึงรายล้อมไปด้วยอดีตผู้นำทหารจากกองทัพ ทำให้การทำงานไม่เป็นอิสระเท่าที่ควร
นายเมียต ทิน ออง ประธานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษหล่าย ทายาร์ ให้ความเห็นว่า “ประธานเอ็มไอซีควรจะเป็นระดับรองประธานบริษัทเอกชนเป็นอย่างน้อย เพราะถ้าบางท่านในกระทรวงมารับตำแหน่งในเอ็มไอซี มันไม่ค่อยเวิร์ค เพราะพวกเขาจะไม่เคารพซึ่งกันและกัน”
นอกจากนี้เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “คณะกรรมการต้องทำงานได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นกับนักลงทุน จึงไม่อาจที่จะทำงานอย่างเป็นอิสระได้ ถ้าเป็นองค์กรอิสระ ก็ยากที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ”
ในบางกรณี เอ็มไอซีใช้เวลาในการตัดสินใจเป็นระยะเวลานานในการอนุมัติโครงการลงทุนจากต่างประเทศ และมีกฎข้อบังคับมากมายที่ยังบังคับใช้กับนักลงทุนทั้งต่างประเทศและในประเทศ
นายเมียต ทิน ออง กล่าวว่า “ถ้ารัฐบาลใหม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ก็จะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้นกว่าในปัจจุบัน”
ทั้งนี้ เอ็มไอซี มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กฎหมายนี้แบ่งเป็นกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศปี 2555 และกฎหมายการลงทุนของพลเมืองเมียนมาปี 2556 โดยมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจที่ได้รับของ เอ็มไอซี และขยายการปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อโครงการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต
จากข้อมูลของ เอ็มไอซี การลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาจะอยู่ในภาคพลังงาน (33%) ภาคการผลิต (22%) น้ำมันและก๊าซ (20%) โทรคมนาคม (11%) และภาคโรงแรมและการท่องเที่ยว (5%)