มูดี้ส์ขยับเรตติ้งฟิลิปปินส์ขึ้น
การเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในไตรมาส 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% จากเดิมอยู่ที่ 6.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ได้ ‘เครดิตเชิงบวก’ จากมูดี้ส์
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ รายงานว่า “การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งได้เครดิตเชิงบวก เพราะแสดงให้เห็นถึงแรงต้านทานทางเศรษฐกิจที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก และให้คะแนนความสามารถและความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ค้ำจุนอุปสงค์ภายในประเทศ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายนอกที่อ่อนแอ” โดยมูดี้ส์จัดอันดับให้ฟิลิปปินส์อยู่สูงกว่าประเทศที่ลงทุนได้อยู่หนึ่งขั้น
ทั้งนี้ มูดี้ส์ ชี้ว่า การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4 เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อุปสงค์ทั่วโลกซบเซาจากเศรษฐกิจ (ที่เน้นพึ่งพาการส่งออก) ของประเทศในอาเซียนชะลอตัว ดังนั้น ฟิลิปปินส์จึงน่าจะมีศักยภาพสูงพอที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและตลาดเงินทั่วโลกในอนาคตได้
มูดี้ส์ รายงานว่า มีการเร่งรัดการบริโภคในภาครัฐและการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 หลังจากการควบคุมการใช้จ่ายของภาครัฐส่งผลด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก
นอกจากนี้ มูดี้ส์ ยังเสริมว่า พื้นที่การคลัง หรืองบประมาณภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในหลายปีมานี้ เอื้อให้รัฐบาลสามารถค้ำจุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ โดยไม่ส่งผลต่อการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล
มูดี้ส์ รายงานว่า “ความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการงบประมาณท่ามกลางสภาพแวดล้อมทั่วโลกที่ผันผวน ทำให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภค ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยมูดี้ส์รายงานว่า “ภาคครัวเรือนได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่ลดลงและการส่งเงินกลับเข้าประเทศ ทั้งนี้ เงินเปโซที่อ่อนค่าลง 5.4% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯก็ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ชาวฟิลิปปินส์ที่อยู่ต่างประเทศ ในการซื้อกองทุนต่างๆ”
ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนของฟิลิปปินส์อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน จึงหนุนให้การบริโภค
ขยายตัวเพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวไม่ส่งผลกระทบต่อฟิลิปินส์มากนัก เนื่องจากไม่ได้พึ่งพาจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลักโดยมูดี้ส์รายงานว่า “ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนพึ่งพาจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุด จีนกลับเป็นแค่อันดับ 4 ในตลาดส่งออกสินค้าของประเทศฟิลิปปินส์ และฟิลิปปินส์เองก็ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกโภคภัณฑ์มากนัก จึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาที่ตกต่ำเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน”
โดยมูดี้ส์รายงานเพิ่มเติมว่า อุปสงค์ที่แข็งแกร่งในภาคบริการของฟิลิปปินส์ เช่น ธุรกิจที่จัดจ้างคนภายนอกและการท่องเที่ยว สามารถชดเชยอุปสงค์ที่ซบเซาในการซื้อขายสินค้าได้ รัฐบาลจึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มากขึ้นกว่านี้