อินโดนีเซียได้ดุลการค้าปี 58
รัฐบาลอินโดนีเซียเผยว่า อินโดนีเซียกลับมาได้ดุลการค้าในปีที่ผ่านมา หลังจากขาดดุลถึง 3 ปีติดต่อกัน ถึงแม้กิจกรรมทางการค้าโดยรวมยังซบเซาอยู่ การส่งออก และนำเข้าก็ลดลงทั้งคู่
สำนักงานสถิติกลาง เปิดเผยข้อมูลว่า การส่งออกลดลงมา 14.62% จากปีก่อนหน้า มีมูลค่ารวม 150,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5,258,750 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และการนำเข้าลดลง 19.9% มาอยู่ที่ 142,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4,995,900 ล้านบาท ทำให้อินโดนีเซียได้ดุลการค้าถึง 7,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 262,850 ล้านบาท
นายซูร์ ยามิน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติกลาง กล่าวเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ว่า การได้ดุลการค้าในปีที่แล้ว นับเป็นปีแรก หลังจากขาดดุลติดต่อกันมาถึง 3 ปี แต่มูลค่าที่ได้ดุลการค้ายังต่ำกว่าปี 2554 ที่ได้ดุลการค้าถึง 26,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 912,100 ล้านบาท เขากล่าวกับสื่อว่า
“การลดลง (ของมูลค่าที่ได้ดุลการค้า) ยังคงมากกว่าราคาโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำตลอดทั้งปี ในแง่ปริมาณการส่งออก สินค้าทุกตัวเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็หยุดนิ่ง ยกเว้นโภคภัณฑ์เหมืองแร่”
ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมัน และก๊าซลดลงถึง 38.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมูลค่าอยู่ที่ 18,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 649,250 ล้านบาท จากราคาน้ำมันที่ยังคงดิ่งลงตลอดทั้งปี และลงไปต่ำสุดในรอบ 12 ปีมาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,050 บาท ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน
ราคาน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งเป็นหนึ่งในโภคภัณฑ์หลักของอินโดนีเซียก็ร่วงลงมาในทิศทางเดียวกัน ฉุดการส่งออกในภาคส่วนอื่นลงมาอยู่ที่ 131,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,609,500 ล้านบาท จากมูลค่าเดิมในปี 2557 คือ 145,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5,108,600 ล้านบาท
นางเอ็นนี ศรี ฮาร์ตาติ นักวิเคราะห์จากสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจและการเงิน แย้งว่าดุลการค้าของประเทศในปี 2558 ยังไม่น่าพอใจ เธอกล่าวว่า “การได้ดุลการค้าในปีที่แล้วเกิดจากการนำเข้าที่ลดลงกว่าการส่งออก” ทั้งนี้ในเดือนธ.ค.เพียงเดือนเดียว ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 6.98% และ 5.23% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.
นายซูร์ยามิน ให้ความเห็นว่ามูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในเดือนธ.ค. มาจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นของโภคภัณฑ์ 9 อย่าง เช่น น้ำมันปาล์มดิบ ยางพารา และถั่วเหลือง เป็นต้น ในระหว่างเดือน
นายไว โฮ เหลียง นักวิเคราะห์อาวุโส ในภูมิภาคจาก ธนาคารบาร์คลีส์ สาขาสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ในขณะที่การส่งออกตกต่ำยังมีผลในวงกว้าง แต่การลงทุนสาธารณะ และการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนการนำเข้าที่ดีกว่าที่คาดการณ์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เขากล่าวว่า
“เรายังคงคาดหวังถึงสถานการณ์ในการเติบโตจากไตรมาส 4 ของปีที่แล้วว่าจะส่งผลดี ต่อเนื่องในปี 2559 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคหลายโครงการ และมาตรการกระตุ้นนโยบายทางการเงิน”
นางเอ็นนี กล่าวว่า ประเทศต้องพัฒนาโภคภัณฑ์ส่วนอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันปาล์มดิบ ที่ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดที่ดีเพื่อหนุนการส่งออกในปีนี้ ขณะที่คาดว่าการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ นางลานา โซลิสเตียนิงซี นักวิเคราะห์จากซามูเอล เซกุริตาส เธอกล่าวว่า อินโดนีเซียไม่ควรพึ่งพาน้ำมันปาล์มดิบเพียงอย่างเดียวในการส่งออก เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบมีความผันผวนสูง