เมียนมาชูจุดเด่นดูดนักลงทุน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ภาคบริการของเมียนมา จะเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักลงทุนหลังจากรัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศในเดือน มี.ค.นี้
เศรษฐกิจของประเทศถูกคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะหยุดนิ่งในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้ง แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า การบริหารงานของรัฐบาลใหม่น่าจะพยายามผลักดันให้ภาคบริการเป็นแหล่งเศรษฐกิจหลักของประเทศ
นายเมียต ติน ออง ประธานเขตอุตสาหกรรมหล่าย ทาร์ยาร์และรองประธาน ธนาคารโยมา ให้ความเห็นว่า “เนื่องจากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทำให้นักลงทุนไม่ให้ความสนใจเมียนมาเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคบริการ ไม่ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมากนัก”
ทั้งนี้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง พยายามที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในช่วง 5 ปี ของการดำรงตำแหน่ง แต่นอกจากการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ก็ไม่เห็นผลงานอื่นอีก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ และขาดนโยบายที่ชัดเจน
นายเมียต ติน อองกล่าวว่า “เราต้องการนักลงทุนต่างชาติสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กโทรนิคส์ และอุตสาหกรรมหนักประเภทอื่น แต่พวกเขากำลังรอนโยบายใหม่จากรัฐบาลใหม่อยู่ ผมเห็นนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นในภาคบริการ เช่น โรงแรมและการท่องเที่ยว ธนาคาร และการเงิน”
นายโซ ทัน ประธานสมาคมผู้แทนจำหน่ายรถยนต์และรองประธานสหพันธ์ข้าวของเมียนมา ได้สะท้อนความคิดเห็นของนายเมียต ติน ออง นอกจากนี้ยังพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ
โดยนายโซ ทัน กล่าวว่า “เราไม่มีไฟฟ้าเพียงพอที่จะรองรับโครงการเหล่านี้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนจำนวนมากจึงสนใจในธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวมากกว่า เราจึงคาดหวังถึงการอนุมัติช่วยเหลือนักลงทุนต่างชาติในหลายภาคส่วน เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลใหม่เข้าสู่อำนาจ”
อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคอีกมากที่รัฐบาลใหม่ต้องฝ่าฟัน อย่างเช่น การปรับแก้ไขกฎหมาย และข้อบังคับให้ทันสมัยมากขึ้นในเรื่องการค้า และภาคการผลิต รวมถึงการขจัดความล่าช้าของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติงานอีกด้วย
จากรายงานของธนาคารโลกล่าสุดเดือน ต.ค.ปี 2558 มีข้อมูลว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างต่อเนื่องขึ้นอยู่กับกระบวนการในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาค เช่น การสร้างความแข็งแกร่ง ให้สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ การปรับปรุงภาคการธนาคารให้ทันสมัย และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการเงิน
นายโทนี่ พิคอน ผู้อำนวยการบริหารของตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศคอลลิเยร์ กล่าวว่า บริการทางการเงินจะเติบโตเร็วกว่านี้ถ้าภาคประกันภัย และธนาคารมีตลาดระหว่างประเทศ เขากล่าวว่า
“รัฐบาลต้องคิดแล้วว่า จะเปิดตลาดอย่างไรโดยไม่ทำให้นักลงทุนในประเทศต้องแบกภาระ”
แต่จากความเห็นของนายเต็ง ทัน ประธานธนาคารทันฟาวเดชั่น และ MGS กรุ๊ป เขาคิดว่า รัฐบาลใหม่มีงานยากต้องทำคือต้องมีนโยบายที่ดีอย่างที่วางแผนไว้ และภาคบริการก็จะเติบโตบานสะพรั่ง
เขากล่าวว่า “อย่างเช่น ในส่วนของธนาคาร ถึงแม้รัฐบาลจะอนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาดำเนินการในเมียนมาได้ แต่ก็ทำได้เพียงให้เงินกู้ยืมแก่นักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่กับคนเมียนมาเอง และแหล่งเงินทุนของธนาคารภายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารต่างประเทศแล้ว ยังน้อยกว่ามาก รัฐบาลใหม่ต้องเตรียมพร้อมมากขึ้นในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม”
คณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา รายงานว่า เมียนมาได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติโดยตรง (FDI) สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 280,000 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2557-2558 อย่างไรก็ตามนายออง นาย อู เลขาธิการของคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา กล่าวว่า มีเงินลงทุนเพียง 3,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 105,000 ล้านบาท เท่านั้นที่เข้ามาในเมียนมาจริงๆ