ราคาน้ำมันร่วงกระทบเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
ธนาคารโลกรายงานว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะดีขึ้นในปีนี้ แต่ก็เตือนด้วยว่า ราคาโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำลงในตลาดโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของอินโดนีเซีย
ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะเติบโต 5.3% ในปี 2559 นี้ โดยจากเดิมอยู่ที่ 4.7% ในปีที่แล้ว โดยการคาดการณ์นี้ยังคงเป็นไปตามรายงานเศรษฐกิจประจำไตรมาสของอินโดนีเซียที่ธนาคารโลกรายงานออกมาในเดือนธ.ค.ปี 2558 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ธนาคารโลกชื่นชมในความพยายามของอินโดนีเซีย ที่จะลดการขาดดุลงบประมาณโดยการปฏิรูปเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงในปี 2558 และลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งลดต่ำลงมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงต่อกรอบการดำเนินการ เนื่องจากราคาโภคภัณฑ์ที่ซบเซาจะซ้ำเติมปัญหาการส่งออกโภคภัณฑ์ของอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น
ในรายงานของธนาคารโลก เขียนไว้ว่า “สำหรับประเทศผู้ผลิตโภคภัณฑ์อย่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ราคาที่ลดลงของโภคภัณฑ์ เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการความผันผวนของราคาทรัพยากรธรรมชาติ”
นอกจากนี้อินโดนีเซียต้องอดทนกับสภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในจีน และญี่ปุ่น โดยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ลดลง 1% จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียประมาณ 0.4%
ในขณะที่ 1% ที่ลดลงของตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบประมาณ 0.18% ต่อตัวเลขเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ธนาคารโลกแนะนำว่า อินโดนีเซียควรลดการพึ่งพารายได้จากสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งนายดาร์มิน นัสซูชัน รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ เคยกล่าวว่า เป็นเรื่องปรกติที่เป็นเช่นนั้น
เขากล่าวเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ว่า “เป็นเรื่องปรกติ ใครจะอยากพึ่งพาสินค้าอุปโภคอยู่อย่างนี้ นี่เป็นกระบวนการที่เราจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่เพื่อให้บรรลุผล เราต้องดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งเรากำลังเริ่มลงมือทำแล้วในปัจจุบัน”
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัว 4.8% ในปี 2559 ท่ามกลางราคาโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ การค้าทั่วโลกที่ซบเซา ความอ่อนแอในตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ การลดลงของกระแสเงินทุน และการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.3% ในปีที่แล้ว โดยตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดอยู่ในปี 2552 และตัวเลขยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก