ส่งออกน้ำมันปาล์มมาเลเซียทรุด
ตัวเลขส่งออกน้ำมันปาล์มมาเลเซียเริ่มถดถอย หลังเคยพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 18 เดือนจากรอบการซื้อขายที่แล้ว
สาเหตุมาจากความต้องการที่ลดลงและฤดูมรสุมช่วงสิ้นปีส่งผลกระทบต่อความอ่อนไหวของตลาดราคาในการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าน้ำมันปาล์ม เดือนมี.ค.ในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซียลดลงไป 1.6% ไปปิดที่ 2,447 ริงกิต ต่อตัน ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มเคยพุ่งขึ้นไปถึง 2,490 ริงกิตต่อตัน ในรอบการซื้อขายที่แล้วเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ย. 2557 เป็นต้นมา
ผู้ค้าประจำกัวลาลัมเปอร์คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลกล่าวอ้างถึงสถานการณ์ในภูมิภาค ตอนใต้ของมาเลเซียว่า “การส่งออกเริ่มลดลงบ้างแล้ว และเรากำลังเจอฝนตก ในภาคใต้ แต่ตลาดอาจจะเปลี่ยนไปใน ทิศทางที่ทำให้เราได้กำไรก็ได้” โดยมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 22,714 ล็อต ล็อตละ 25 ตัน เมื่อจบการซื้อขายในตอนเย็น
ทั้งนี้ ข้อมูลการส่งออกน้ำมันปาล์ม จากบริษัทตรวจสอบสินค้าสำคัญ 2 รายแสดงให้เห็นว่า การส่งออกลดลง 15 -16% ในการขนส่งรอบวันที่ 1- 25 ธ.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับรอบการขนส่งในเดือนที่แล้ว ฤดูมรสุมช่วงสิ้นปีในภูมิภาคอาเซียนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดต่ำลง โดยสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมทำให้ยากต่อการเก็บผลปาล์มน้ำมันสดและยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอีกด้วย
ในขณะที่ข้อมูลอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์แสดงว่ายอดส่งออกน้ำมันมะพร้าวก้าวกระโดดขึ้นไปอยู่ที่ 69,729 ตัน ในเดือนพ.ย. โดยฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตโภคภัณฑ์ชั้นนำของโลกกำลังบริหารจัดการให้ตัวเลขเป็นไปตามการคาดการณ์การส่งออกของปีนี้
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมี.ค. สมาคมผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าวของฟิลิปปินส์ได้ปักหมุดยอดส่งออกของปี 2558 ไว้สูงถึง 804,000 ตัน แต่ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้ผลผลิตเสียหายก่อให้เกิดความกังวลต่ออุปทาน อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกในช่วงนี้ช่วยคลายความกังวลในเรื่องผลกระทบจากความแห้งแล้งของสภาพอากาศไปได้บ้าง
จากข้อมูลของสมาคมเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ยอดการส่งออกน้ำมันมะพร้าวในเดือนพ.ย.อยู่ที่ 69,729 ตัน หลังจากยอดส่งออกปรับ ลดลงมา 3 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้ยอดรวมการส่งออกใน 11 เดือนสูงถึง 782,531 ตัน ลดลงมา 5.6%
นายจีซัส อาร์รันซ่า ประธานสมาคมผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันมะพร้าวให้ความเห็นในแง่ดีว่า ยอดรวมการส่งออกน้ำมันมะพร้าวของปีนี้น่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้
“ผมคิดว่ายังมีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เราส่งออกได้มากถึง 32,000 ตัน”
น้ำมันมะพร้าวเป็นการส่งออกจากภาคเกษตรกรรมชั้นนำของอาเซียน ซึ่งถูกนำไปใช้ในการประกอบอาหาร เป็นส่วน ประกอบของผงซักฟอกและเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยได้ถูกส่งออกไปที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก และขายในตลาดน้ำมันที่ได้จากพืช