ไฟป่าฉุดเศรษฐกิจอินโดนีเซียทรุด 5 แสนล้าน
ธนาคารโลกรายงานว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียปีนี้ต้องเสียหายจากเหตุการณ์ไฟป่าที่ทำให้เกิดหมอกควันพิษปกคลุมไปหลายประเทศถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 560,000 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) มากกว่าค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูประเทศหลังสึนามิถล่มในปี 2547 ถึง 2 เท่า
โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการเผาป่าเพื่อทำการเพาะปลูกทุกปีในอินโดนีเซีย แต่ปีนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุ ในรอบหลายปี ไฟ และหมอกควันพิษที่เกิดขึ้น ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทำให้คุณภาพอากาศย่ำแย่ ผู้คนในภูมิภาคนี้จำนวนมากต้องเจ็บป่วยจากโรคในระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งในสิงคโปร์ด้วย
ธนาคารโลกรายงานเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ว่า ไฟได้เผาผลาญทำลายพื้นที่ป่า และพื้นที่เพาะปลูกทั่วหมู่เกาะไปถึง 416,000 ไร่ จากเดือนมิ.ย. ถึงเดือนต.ค.58
โดยมีการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอินโดนีเซียว่าสูงถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 560,000 ล้านบาท คิดเป็น 1.9% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีที่คาดการณ์ไว้ของปีนี้
นายโรดริโก เชฟส์ ผู้บริหารในภูมิภาคประเทศอินโดนีเซียจากธนาคารโลก ให้ความเห็นว่า มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้จัดว่าเป็นจำนวนมหาศาล เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณในการฟื้นฟูพื้นที่ทางตะวันตกของจังหวัดอาเจะห์ที่เสียหายจากเหตุการณ์สึนามิถล่มเมื่อ 11 ปีก่อน ที่สูงถึง 7,000 พันล้านเหรียญ หรือ 245,000 ล้านบาท
การจุดไฟเผาเป็นวิธีจัดการเคลียร์พื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกของโรงงานปาล์มน้ำมันที่มีกำไรงาม ในพื้นที่เกาะสุมาตรา และส่วนของอินโดนีเซียบนเกาะบอร์เนียว วิธีนี้ได้รับความนิยม และปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะใช้เวลาน้อยและทุ่นค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามไฟได้โหมแรงจนควบคุมไม่ได้ และไฟไหม้จนถึงพื้นที่เป็นถ่านหินเลนที่มีคาร์บอนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดหมอกควันพิษยาวนานเป็นเวลาหลายเดือนในระหว่างฤดูที่แห้งแล้ง
ธนาคารโลกรายงานว่า หากคำนวณพื้นที่ที่ถูกเผาทำลายเสียหายไป กลับมาเป็นผลผลิตที่ได้จากการปลูกปาล์มน้ำมัน จะมีมูลค่าสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 288,000 ล้านบาท
อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุด มีการนำน้ำมันไปใช้เป็นส่วนประกอบของสินค้าในชีวิตประจำวันหลากหลายประเภท ตั้งแต่ขนมบิสกิตจนถึงแชมพูสระผม
นางแอนน์ โจเน็ต กลอเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมประจำธนาคารโลก ให้ความเห็นว่า “หากมองในมุมหนึ่ง ความเสียหาย 560,000 ล้านบาทมีผลต่อประเทศ แต่คิดในอีกแง่หนึ่ง เงินจำนวนมากถึง 288,000 ล้านบาท ควรจะตกอยู่ในมือของประชาชนแต่ละคนมากกว่า”
มูลค่าความเสียหายที่ประเมินได้นี้ คำนวณจากการวิเคราะห์ประเภทของพื้นที่ที่ถูกเผาทำลายไปและผลกระทบในแง่เกษตรกรรรม ป่าไม้ การค้า การท่องเที่ยว และการคมนาคม รวมถึงผลกระทบในระยะสั้นของหมอกควัน เช่น การปิดโรงเรียน และสุขภาพของประชาชน
ประชาชนมากกว่า 500,000 คนในอินโดนีเซียต้องเจ็บป่วยจากโรคในระบบทางเดินหายใจ ขณะที่ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย ต่างก็ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ด้วย