บรูไนอนุรักษ์ป่าชายเลนดึงนักวิจัยต่างชาติ
บรูไนดารุสซาลาม ตระหนักคุณค่าป่าชายเลนเร่งอนุรักษ์ปกป้องและฟื้นฟู หวังใช้ดึงดูดเหล่านักวิจัยทั้งจากภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะงานวิจัยลิงจมูกงวงสายพันธุ์หายากใกล้สูญพันธุ์
เมืองเคจี บูนัท แห่งบรูไน อยู่ระหว่างจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติพันธุ์ป่าชายเลน ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ทรงคุณค่าของป่าชายเลนที่แม้ว่าพื้นที่มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับป่าบก แต่ป่าชายเลนนับวันมีความสำคัญมากขึ้นต่อชีวิตประชากรและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เพราะป่าชายเลนคือแหล่งรวมของสังคมพืช สัตว์น้ำและสัตว์บกนานาชนิด นับว่าเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาล
นายวาฮับ เอชเจ อิบราฮิม (Pg Wahab Pg Hj Ibrahim) ประธานสมาคมเยาวชนบรูไน Bunut Youth Association (IKERAB) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะ บรูไน ไทม์ ระบุสมาคมฯ เตรียมแผนสร้างสะพานข้ามฝั่งจากแผ่นดินใหญ่ไปยังป่าชายเลนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมากัม ดิ ลูบา ในเมืองเคจี บูนัท เพราะป่าชายเลนบริเวณนั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของลิงโพรบอสซิส (Proboscis Monkeys) หรือ “ลิงจมูกงวง” สัตว์ท้องถิ่นพื้นเมือหายากใกล้สูญพันธุ์
การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่ไปยังป่าชายเลนจะเป็นวิธีที่จะทำให้นักวิจัยได้ศึกษาวิถีชีวิตของลิงจมูกยาวอย่างใกล้ชิด
นายวาฮับ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ในอดีต เราจะเห็นนกต่างถิ่นหลากหลายสายพันธุ์บินมาเกาะอยู่บนต้นไม้ในป่าชายเลน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยสนใจอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันการเดินทางไปยังป่าชายเลนต้องใช้เรือเพียงทางเดียวเท่านั้น หากสร้างสะพานข้ามจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักวิจัย
นายวาฮับ กล่าวอีกว่า นักวิจัยจำนวนมากที่มักเข้าไปยังป่าชายเลน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของประเทศบรูไน แต่ก็มีนักวิจัยจากต่างชาติจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะจากมาเลเซียเข้าไปสำรวจทำงาน ผู้มาเยือนส่วนใหญ่รู้จักป่าชายเลนแห่งนี้จากครอบครัว และเพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
ป่าชายเลนแห่งนี้อยู่ห่างกรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน เมืองหลวงบรูไนเพียง 8 ชั่วโมง เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางภูมิประเทศ การเดินทางไปที่นั่นจะไม่บั่นทอนหรือดึงกลุ่มผู้ไปเยือนป่าชายเลนในเขตเทมบูรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่อยากให้ผู้คนได้รู้ว่าในประเทศบรูไนนอกจากป่าชายเลนในเขตเทมบูรงแล้ว ในเขตมูเอร่า ยังมีป่าชายเลนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเหมาะเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างศูนย์วิจัยฯจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้คนตามหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านจะได้ขายอาหารท้องถิ่นให้แก่เหล่านักวิจัยผู้มาเยือน
ต่อข้อถามถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสภาพความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม ภายหลังการจัดตั้งศูนย์วิจัยฯ นายวาฮับได้ให้คำตอบว่า สมาชิกเยาวชนของชมรมฯ จะคอยสอดส่องดูแลความเป็นไปในบริเวณแม่น้ำเมเคม ดิ ลูบา (Makam Di Luba) เหล่าอาสาสมัครเยาวชนจะคอยดูแลไม่ให้ชาวประมงเข้ามาทำการประมง เราอนุญาตให้ชาวบ้านจับปลา และสัตว์น้ำได้แต่ต้องไม่ประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ หากสะพานสร้างเสร็จ เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้น เยาวชนของหมู่บ้านจะเป็นผู้สอดส่องดูแลพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเพื่อมิให้ทำลายสภาพป่าชายเลน
สมาคมเยาวชนเมืองบูนัท The IKERAB Makam Di Luba อยู่ระหว่างระดมทุนสร้างสะพาน แต่ก็หวังได้รับความช่วย เหลือจากองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ หาทุนจัดซื้อวัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้าง ทั้งยังวางแผนสร้างเพิ่มเติมอาคารอเนกประสงค์เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนและใช้เป็นศูนย์พัฒนา และวิจัยสำหรับนักวิจัยผู้มาเยือนได้ด้วย