สหรัฐฯ คลายกฎเหล็กการค้าเมียนมา
สหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดทางการค้าชั่วคราวให้แก่เมียนมา โดยยอมให้มีการขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือ และสนามบินได้เป็นเวลา 6 เดือนหลังจากพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
สหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายนโยบายกีดกันทางการค้ากับเมียนมาลง หลังจากนางอองซาน ซูจีนำพาพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่เป็นอิสระที่สุดในรอบ 25 ปีของเมียนมา
โดยสหรัฐฯ ยอมให้มีการขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือ และสนามบินที่มีนักลงทุนที่ขึ้นบัญชีดำในสหรัฐฯ เป็นเจ้าของ เพื่อเป็นการหนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศประชาธิปไตยของเมียนมา
หลังจากถูกปกครองโดยกองทัพมาหลายทศวรรษ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับเมียนมาเป็นการชั่วคราว โดยที่ผ่านมาได้ตั้งเป้าให้ข้อจำกัดนี้มีผลกับนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางกองทัพ แต่กลับมีผลกระทบกับผู้ประกอบการรายอื่นในวงกว้าง
มีรายงานว่า เมื่อเดือนพ.ย. ธนาคารสำคัญของสหรัฐฯ อย่างซิตี้กรุ๊ป แบงค์ออฟอเมริกา และพีเอ็นซีไฟแนนเชี่ยลได้ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจของเมียนมา หลังจากพบว่าท่าเรือ’เอเชียเวิลด์’ ซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดในเมียนมา เป็นของนักธุรกิจทรงอิทธิพลที่ถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำ
ผู้ประกอบการส่งออกใช้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศของธนาคารเพื่อให้มั่นใจว่า จะได้รับเงินค่าสินค้าหลังจากสินค้าจัดส่งเรียบร้อยแล้ว แต่การถอนตัวของธนาคารก็ส่งผลกระทบทำให้การขนส่งสินค้าจากสหรัฐไปสู่เมียนมาลดลงอย่างรวดเร็ว
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ กล่าวว่า “มันมีผลทำให้ทุกอย่างแย่ไปหมด ไม่เพียงแค่ธนาคารของสหรัฐฯ แต่ธนาคารจากประเทศอื่นๆ ก็เริ่มที่จะชะลอความช่วยเหลือในการส่งสินค้าเข้า และออกจากเมียนมาด้วย”
เขายังเตือนว่าถึงแม้การผ่อนคลายนโยบายจะอนุญาตให้มีการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือที่เจ้าของถูกขึ้นบัญชีดำจากสหรัฐฯ แต่ธนาคารเองก็ยังถูกห้ามทำธุรกรรมโดยตรงให้กับบริษัทที่อยู่ในบัญชีดำ
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐ ฯกล่าวเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ว่า การผ่อนคลายข้อจำกัดนี้เป็นการช่วยสนับสนุนพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี ให้ได้มีโอกาสพัก ก่อนที่จะต้องใช้เวลาหลายเดือนข้างหน้าวุ่นวายกับการจัดตั้งรัฐบาล เขากล่าวว่า
“คุณลองคิดถึงว่าที่ผ่านมา ข้าวที่ชาวนาเมียนมาจะส่งออกจากท่าเรือเอเชียเวิลด์ เมื่อเจอกับข้อจำกัดนี้ ข้าวก็ต้องเน่าทิ้งอยู่ที่ท่าเรือ”
เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ ยังกล่าวต่อไปว่า ทางสหรัฐฯ จะพิจารณาในการขยายเวลาของการผ่อนคลายข้อจำกัดนี้ออกไปอีกหลายเดือน
นายปีเตอร์ แฮร์เรล ผู้ให้คำปรึกษากับธุรกิจที่อยู่ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ผ่านมา กล่าวว่า “ผู้ประกอบการรู้สึกพอใจกับเรื่องนี้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องท้าทายถึงอนาคตข้างหน้า แต่อย่างน้อยตอนนี้เราก็ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้ถึง 6 เดือน”