อนาคตช้างลาวกับบทสรุปยังคลุมเครือ
อดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา สปป.ลาว คือดินแดนที่ชาวโลกรู้จักกันดีในนาม “ดินแดนล้านซ้าง” — Land of a Million Elephants แต่บัดนี้ทั้งประเทศลาว คาดว่ามีช้างหลงเหลืออยู่ไม่ถึง 900 ตัว ในจำนวนนี้เป็นช้างป่าไม่ถึงครึ่ง
สาเหตุที่ประชากรช้างใน สปป.ลาว แทบจะสูญพันธุ์ เพราะอดีตถูกจับใช้งานลากไม้ซุงอย่างหนัก แต่ยุคนี้การใช้ช้างชักลากไม้ซุงเริ่มลดน้อยลง ป่าไม้ก็เหลือน้อยลง ช้างลากซุงเริ่มตกงาน อาหารช้างก็ลดลงเริ่มไม่เพียงพอ อีกทั้งช้างถูกใช้งานหลากหลายประเภทยิ่งขึ้น ทำให้ช้างได้พักผ่อนน้อย ช้างตายมากกว่าเกิด ถ้าปล่อยสถานการณ์เป็นเยี่ยงนี้ต่อไป ค่อนข้างแน่ว่าอนาคตไม่ถึง 20 หรือ 30 ปี ประชากรช้างใน สปป.ลาว ต้องถึงคราวสูญพันธุ์…
ด้วยเหตุนี้ “คาราวานช้าง” รวมถึงช้าง และควาญช้าง 20 คู่ จากพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ จึงรวมตัวกันเดินขบวนทาง ไกลหลายร้อยกิโลเมตร ออกจากเมืองปากเลตั้งแต่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หวังไปให้ถึงเมืองหลวงพระบางทันวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ระยะเวลาการเดินทาง 45 วัน ด้วยจุดประสงค์นอกเหนือจากร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี เมืองหลวงพระบางในฐานะมรดกโลกแล้ว ยังจะร่วมเรียกร้องขอข้อสรุปถึงโครงการความช่วยเหลือแก้ปัญหาอนาคตช้างลาวจากเหล่าผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ภาครัฐจนถึงภาคเอกชนองค์กรทั้งหลาย
วิกฤตการณ์ย่ำแย่ที่เหล่าช้าง และควาญช้างกำลังเผชิญอยู่คือ กฏเหล็กของรัฐบาล สปป.ลาว ห้ามเจ้าของช้างขายช้างให้คนต่างชาตินำออกนอกประเทศเด็ดขาด ทั้งยังส่งเสริมให้อนุรักษ์ช้างลาวโดยจัดงานบุญช้างทุกปี
ขบวนคาราวานช้างลาวครั้งนี้ นับเป็นการแสดงของสัตว์ป่าแบบเคลื่อนที่ จัดโดยองค์กรอนุรักษ์ช้างเอเชีย (ElephantAsia) ร่วมกับนักแสดง และนักวิชาการ ผนึกกำลังจัดการแสดง และจัดกิจกรรมต่างๆ บนเวทีตามหมู่บ้านในเส้นทางคาราวาน เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทดแทนการใช้ช้างทำธุรกิจรลากไม้ ท่ามกลางสถานการณ์ป่าไม้ (ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของช้าง) ถูกทำลายลง และธุรกิจการทำไม้ลากซุงถึงจุดอิ่มตัว ส่งผลกระทบถึงทั้งช้าง และเหล่าควาญช้างต้องตกงานขาดรายได้
เซบาสเตียน ดัฟฟิลลอท ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรอนุรักษ์ช้างเอเชีย บอกว่า “เจ้าของช้างในประเทศลาวกำลังต้องการความช่วยเหลือจากพวกเรา พวกเขาอยากให้ช้างหยุดงานลากซุงที่อันตราย และได้ทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยมากกว่า”
ดัฟฟิลลอท ซึ่งเป็นผู้ดูแลศูนย์อนุรักษ์ช้าง (Elephant Conservation Center) ในเมืองไซยะบุรี ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว เห็นว่า แม้วิสัยทัศน์การท่องเที่ยวเพื่อทางออกอยู่รอดของช้างดูเหมือนจะผิดแผกจากความมีเมตตาต่อสัตว์ป่าก็ตาม เพราะดัฟฟิลลอท ยังสนับสนุนการขี่ช้างเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการท่องเที่ยว โดยให้เหตุผลว่า มันไม่ได้โหดร้ายสำหรับช้างเกินไปที่จะมีคนหรือแหย่งอยู่บนหลังช้าง ซึ่งก็เหมือนๆ กับบังเหียนวัวควาย หรืออานม้า
แต่มูลนิธิปกป้อง และคุ้มครองสัตว์ป่าโลก (Wildlife Chairity World Animal Protection) ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าว โดยในเดือนที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้เชิญผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักรมาลงนามคำปฏิญาณการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับช้าง เพื่อสัญญาว่าจะไม่ประชาสัมพันธ์สนับสนุนการขี่ช้าง หรืออาศัยการแสดงของช้าง ถือเป็นการโต้แย้งคำพูด และความคิดเห็นของดัฟฟิลลอทที่เห็นว่า “ขี่ช้างได้-ไม่ทารุณ”
ท่าทีของด็อกเตอร์นีล ดี ครูซ หัวหน้างานวิจัย และนโยบายสัตว์ป่าแห่งองค์การพิทักษ์สัตว์โลก (World Animal Protection) อธิบายถึงกองคาราวานช้างว่ากำลังถูกนำไปใช้สื่อสารผิดทางด้วยอ้างว่าการขี่ช้างเป็นเรื่องถูกต้อง
“พวกเขาเข้าใจผิด – หลงประเด็นสำคัญ – อะไรหรือบ่งชี้ว่าช้างยอมให้ใครนั่งบนหลังพวกมัน คิดเท่านี้ก็ผิดแล้ว”
ส่วน คริสต์ เดรปเปอร์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิบอร์น ฟรี (Born Free Foundation) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคาราวานช้างว่า “ช้างเหล่านั้นต้องตรากตรำลำบากถูกฝึกให้ควาญช้างควบคุมได้ง่าย นั่นคือรากฐานความพยายามครอบงำเหนือสัตว์ป่า”
อย่างไรก็ตามดัฟฟิลลอทเชื่อว่า ผู้วิจารณ์ตัดสินเรื่องนี้เร็วเกินไป “โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ตนเห็นว่าการให้นั่งท่องเที่ยวขี่ช้าง ก็ยังดีกว่าการใช้ช้างลากซุง”
“ผมจัดให้ช้างพานักท่องเที่ยวนั่งขี่เดินเพียงหนึ่งคนต่อช้างหนึ่งตัว ทั้งๆ ที่เราอยากเห็นช้างเดินอย่างอิสระเสรีอยู่ในป่าตามธรรมชาติ แต่มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะป่าไม่ปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการบุกรุกป่าด้วย”
ดัฟฟิลลอท กล่าวอีกว่า ขบวนคาราวานช้างเป็น “ทางออกที่ตรงไปตรงมา และชัดเจน” สำหรับความจำเป็นเร่งด่วนในการอนุรักษ์สัตว์ที่กำลังตกอยู่ในอันตราย
“การท่องเที่ยวเยี่ยมชมขี่ช้างไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เลวร้ายนัก เฉพาะปี 2558 มีหน่วยงาน และศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่ายื่นมือเข้ามาช่วยอนุรักษ์ และดูแลสวัสดิภาพของช้างมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ความพยายามที่ดำเนินการอยู่นี้ น่าจะทำให้ฝ่ายต่อต้านไม่เห็นด้วย หันมาคิดบวกมากกว่าคอยจ้องจับผิดคนอื่น”…