ลาวยกระดับดูแลผู้สูงอายุ
สปป.ลาว มุ่งเน้นตระหนักคุณค่าผู้สูงอายุ หวังสืบทอดประเพณี และวัฒนธรรมสู่คนรุ่นใหม่
กลุ่มผู้สูงอายุในสปป.ลาว จัดชุมนุมใหญ่ร่วมหารือทบทวนบทบาทของตัวเอง เพื่อร่วมพัฒนาชุมชน และให้ความรู้สืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านสู่อนุชนคนรุ่นหลังให้ก้าวย่างไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มผู้สูงอายุทั่วสาธารณรัฐประชาชนลาวมากกว่า 1,000 คน กำหนดร่วมพบปะกันในนครหลวงเวียงจันทน์ช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ เพื่อหารือและทบทวนบทบาทของกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศ หวังช่วยพัฒนาชุมชน และให้ความรู้แก่ชาวบ้านอนุชนรุ่นหลังในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งนับวันจะสูญหายไปเรื่อยๆ
การรวมตัวของผู้สูงอายุทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนธ.ค.นี้
กำหนดการของกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบหารือกับผู้นำขององค์กรแนวหน้าสร้างชาติ LFNC (Lao Front for National Construction) เพื่อรับทราบนโยบายขององค์กร และรัฐบาล นำไปสู่การพัฒนาชุมชน และประชาชนหลากหลายเผ่าพันธุ์
ผู้นำองค์กรแนวหน้าสร้างชาติจะชี้แจงถึงนโยบายการลงทุนที่น่าสนใจให้แก่กลุ่มองค์กรการปกครองท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และกระจายโอกาสการทำงานสู่สังคม
หวังซื่อ วาโก (Vangxua Vako) เจ้าหน้าที่อาวุโสองค์กรแนวหน้าสร้างชาติ กล่าวให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทม์ส (Vientiane Times) ระบุทางการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุรายงานชี้แจงเรื่องพวกเขาเกี่ยวข้อง รวมถึงแสดงความเห็นได้ถึงความจำเป็นต่อสิ่งที่ควรได้รับปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตน
นายหวังซื่อ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้สูงอายุยังต้องการพบปะหารือกับผู้นำพรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์ เพื่อขอความร่วมมือจากผู้นำท้องถิ่น หวังต่อยอดกระจายการพัฒนาท้องถิ่น และลดปัญหาความยากจนของชาวบ้าน
ทั้งต้องการให้ผู้นำแต่ละท้องถิ่นเดินทางเยี่ยมพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษธาตุหลวง (That Luang Specific Economic Zone) โรงเรียนในชุมชน และมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เพื่อหาลู่ทางการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป
จากนั้น วันที่ 2 ธ.ค. ชาว สปป.ลาว จะร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งประชาชนราว 15,000 คน จะร่วมขบวนพาเหรด 48 ขบวน พร้อมกับเหล่านักแสดงอีก 4,000 คน ในการแสดงหลัก 5 รายการ
วัตถุประสงค์ของการจัดชุมนุมเหล่าผู้อาวุโสจากทั่วประเทศ เพื่อให้ได้เห็นถึงพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของประเทศตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพราะผู้สูงอายุมาจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ มีความรู้ความสามารถ และได้รับการนับถือยอมรับจากสังคม นอกเหนือจากยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลและมีบทบาทในแต่ละชุมชนท้องถิ่น
“บางท่านอาจเป็นครอบครัวต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจการค้าเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และอุทิศผลประโยชน์เพื่อประเทศชาติ”
กว่า 40 ปีที่ผ่านมา เมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม และการลดความยากจน สปป.ลาว เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยระหว่างปี 2524–2528 ผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือจีดีพี เติบโตเฉลี่ยปีละ 5.5% และระหว่างปี 2554–2557 จีดีพีเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 8.2%
ส่วนค่าครองชีพ และรายได้ของประชาชนลาว ถูกปรับขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ตัวอย่าง เช่น ในปี 2528 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีคือ 114 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่ถึง 4,000 บาท ขึ้นมาถึง 211 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2533 หรือเกือบ 7,500 บาท และเพิ่มถึง 1,069 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 37,500 บาทในปี 2553 ก่อนที่จะขึ้นถึง 1,490 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 52,000 บาทในปี 2556