ศก.มาเลเซียไตรมาส 3 โต 4.7%
ธนาคารกลางของมาเลเซียรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 เติบโต 4.7% เป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ก่อนหน้านี้
นางเซติ อัคทาร์ อาซิส ผู้ว่าการแบงก์ เนการา มาเลเซีย อันเป็นธนาคารกลางของมาเลเซีย แถลงว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของมาเลเซียไตรมาสที่ 3 เติบโต 4.7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สองที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.9%
อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตดังกล่าวเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้
และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาสที่ 3 ของมาเลเซียยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0.7%
โดยธนาคารกลางของมาเลเซีย ระบุว่า การเติบโตเพิ่มขึ้นดังกล่าวของเศรษฐกิจ มาจากการการใช้จ่าย และการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศเป็นสำคัญ
พร้อมกับระบุว่า ภาคเอกชนในมาเลเซีย ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ของมาเลเซียเติบโตขึ้น โดยการลงทุนของภาคเอเชียในไตรมาสที่สาม เติบโตขึ้น 5.5% เปรียบเทียบกับไตรมาสที่สองที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ระดับ 3.9% โดยภาคส่วนอุตสาหกรรมการผลิต และภาคส่วนบริการมีการลงทุนใช้จ่ายมากที่สุด
ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชนมีการขยายตัวในระดับปานกลางที่ระดับ 4.1% ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.4%
ส่วนการลงทุนของภาครัฐ (Public investment) กลับมามีอัตราการเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายของภาครัฐในไตรมาสที่สาม เติบโต 3.5% นับว่าชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สองที่มีอัตราการเติบโตที่ระดับ 6.8%
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อันเป็นดัชนีชี้วัดข้อมูลเงินเฟ้อที่สำคัญ ในไตรมาสที่สาม เติบโตขึ้น 3.0% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ไตรมาสที่ 2 เติบโต 2.2% จากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหาร และสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 อยู่ในสภาพที่เกินดุลอยู่ทั้งสิ้น 22.2 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองที่อยู่ที่ระดับ 20.4 พันล้านริงกิต
จากการที่ยอดการส่งออกเติบโตขึ้น 5.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นการฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสที่สองที่หดตัว 3.7%
ในขณะที่การนำเข้าเติบโตที่ระดับ 2.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสที่สองที่หดตัว 5.2%
ส่วนทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ณ สิ้นไตรมาสที่สาม (สิ้นเดือนกันยายน) อยู่ที่ระดับ 475.1 พันล้านริงกิต (ประมาณ 93.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
อย่าไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ระดับทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงเมื่อคำนวณตามมูลค่าเงินริงกิต โดยลงมาอยูที่ระดับ 417.9 พันล้านริงกิต แต่เพิ่มขึ้นเมื่อคำนวณตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ