ลาวขาดนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
ประเทศลาวมีความต้องการให้คนรุ่นใหม่ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศ
ศ.ดร.โบเวียงคำ วงดารา รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของลาว กล่าวว่า จำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนต่อในด้านวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยลดจำนวนลง เนื่องจากนักเรียนที่จบชั้นมัธยมเปลี่ยนไปเรียนต่อด้านอื่นแทน
เขาได้กล่าวในพิธีรับมอบกล้องโทรทรรศน์จากไทยให้กับสถาบันวิทยาศาสตร์ในกรุงเวียงจันทน์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า คนรุ่นใหม่สนใจในวิทยาศาสตร์น้อยกว่าที่ควร
“เราต้องมุ่งเน้นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อที่เราจะได้ต่อยอดความรู้ ไปในการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับลาวในอนาคต”
ภายในงานมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทย มาร่วมงาน และได้ให้ความเห็นว่า มีการร่วมมือกันเป็นอย่างดีในด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างสองประเทศนี้
ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ต่างพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือรัฐบาลลาวในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการแก้ปัญหาหลายด้านในภูมิภาคนี้
กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของลาวได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนในปี 2558-2568 และวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ให้กว้างไกลจนถึงปี 2573
โดยลาวจะมุ่งเน้นในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมความสามารถของคน และสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในชนบท และอีกหนึ่งเป้าหมายคือ แสวงหาความร่วมมือจากในภูมิภาค และองค์กรนานาชาติเพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านเงินทุน และทรัพยากรบุคคล
ในการพัฒนาคนนั้น ลาวมีมหาวิทยาลัยชั้นนำถึง 5 แห่ง สถานศึกษาของเอกชนกว่า 100 แห่ง และสถาบันวิจัยอีก 32 แห่ง ที่จะช่วยสร้างนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ และเผยแพร่ความรู้ให้ข้าราชการ
ปัจจุบันมีผู้จบปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีประมาณ 450 คน โดยมีข้าราชการในด้านวิทยาศาสตร์ประมาณ 0.27% ของข้าราชการทั้งหมด หมายความว่า ในปี 2557 ลาวมีนักวิจัย 1 คนต่อจำนวนประชากร 10,000 คน เป้าหมายของกระทรวงวิทยาศาสตร์คือ เพิ่มสัดส่วนนักวิจัยเป็น 3 คนต่อประชากร 10,000 คนในปี 2563 และเพิ่มเป็น 11 คนต่อประชากร 10,000 คนในปี 2568