“เมียนมา”ยังไม่พ้นมรสุม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของเมียนมา จะดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ชี้ปัญหาคอขวดด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องเร่งแก้ไข
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.58 นี้เป็นไปอย่างราบรื่น และสถานการณ์ทางการเมืองของเมียนมามีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากนี้ ย่อมจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหันมาให้ความสำคัญกับเมียนมาในฐานะแหล่งลงทุนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในอาเซียน รวมทั้งในปัจจุบันเมียนมาได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Generalized Scheme of Preferences: GSP) คืนจากสหภาพยุโรปแล้วตั้งแต่เดือนก.ค.56 และมีโอกาสได้รับสิทธิ GSP คืนจากสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ภายหลังรัฐสภาของสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย Trade Preferences Extension Act of 2015 ที่ครอบคลุมการต่ออายุ GSP ด้วย สิ่งเหล่านี้จะยิ่งสนับสนุนให้มี FDI หลั่งไหลเข้ามาในเมียนมามากขึ้น และจะเป็นการลงทุนที่มุ่งเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ FDI ที่เข้ามาจะเป็นโครงการลงทุนในธุรกิจที่อิงกับทรัพยากร ธรรมชาติเป็นหลัก อาทิ พลังงาน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และเหมืองแร่ ทั้งนี้การเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของต่างชาติจะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกของเมียนมาในอนาคต และส่งผลให้โครงสร้างการส่งออกของเมียนมาน่าจะมีการโยกย้ายไปสู่ sector ใหม่ๆ เช่น สินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น จากเดิมที่เน้นการส่งออกสินค้าขั้นต้นเป็นหลัก
อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่การเปิดประเทศในปี 2553 จนถึงปัจจุบันนั้น เมียนมายังถือว่าอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติรวมทั้งนักลงทุนไทยเองก็ยังมีท่าทีรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ/การเมืองของเมียนมา และความแน่นอนของกฎระเบียบต่างๆอยู่ มูลค่า FDI ที่เข้ามาเมียนมาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจึงไม่ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้สัดส่วนมูลค่า FDI ที่เข้ามาในเมียนมาต่อมูลค่า FDI รวมของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจาก 0.3% ในปี 2548 เป็น 0.7% ในปี 2557 แต่ยังคงเป็นการลงทุนในธุรกิจที่อิงกับทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็เป็นไปเพื่อตอบสนองผู้บริโภคในประเทศ และเติมเต็มบางส่วนของห่วงโซ่อุปทานของประเทศใกล้เคียงมากกว่าเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อการส่งออก เนื่องจากในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับเวียดนามแล้ว จะเห็นว่าเวียดนามยังมีขีดความ สามารถทางการแข่งขันที่สูงกว่าเมียนมา แม้จะมีค่าแรงมากกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตามในอนาคตค่าแรงของเวียดนามก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักลงทุนจึงจำเป็นต้องหาแหล่งลงทุนใหม่ๆที่ทำให้ธุรกิจสามารถรักษาขีดความ สามารถทางการแข่งขันไว้ได้ ส่งผลให้เมื่อนั้นเมียนมาก็จะกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น
ทั้งนี้เพื่อรองรับการหลั่งไหลของการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากนี้ เมียนมาจึงจำเป็นต้องพัฒนาปัจจัยต่างๆในประเทศให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากความท้าทายสำคัญของเมียนมา ณ ขณะนี้ คือ ปัญหาคอขวดด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Bottleneck) หรือการที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโตรวดเร็วกว่าที่โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคจะสามารถพัฒนาตามได้ทัน ซึ่งในปัจจุบันเมียนมายังรั้งท้ายอาเซียนในการจัดอันดับ Global Competitiveness Index 2014-2015 ของ World Economic Forum ในส่วนของการสำรวจความคิดเห็นด้วยการให้ตัวแทนภาคธุรกิจในประเทศนั้นๆประเมินโครงสร้างพื้นฐานในประเทศโดยรวมเป็นคะแนนตั้งแต่ระดับ 1 (ด้อยพัฒนาที่สุด) จนถึง 7 (ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ) โดยเมียนมาอยู่ในอันดับที่ 138 จากทั้งหมด 144 ประเทศทั่วโลก และเมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนของแต่ละประเทศกับรายได้รวมต่อหัวของประชากร หรือ GDP per Capita จะพบว่าเมียนมา (จุดสีแดง) ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (เส้นสีแดง) อันจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเป็นฐานการผลิต และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของเมียนมา และจากสถิติของธนาคารโลกพบว่าเมียนมายังมีความพร้อมด้านคุณภาพถนน การเข้าถึงระบบไฟฟ้า โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตที่ต่ำอยู่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
นอกจากด้านโครงสร้างพื้นฐาน อีกหนึ่งความท้าทายของเมียนมา คือ การปรับปรุงความมีประสิทธิภาพของภาครัฐ สะท้อนจากดัชนีชี้วัดการเป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลกที่ให้เมียนมาอยู่ในอันดับที่ 177 จากทั้งหมด 189 ประเทศ โดยเฉพาะในหมวดของการจัดตั้งธุรกิจที่เมียนมารั้งอันดับสุดท้าย (อันดับที่ 189) แสดงให้เห็นว่าการทำธุรกิจในเมียนมายังมีอุปสรรคอยู่มาก กระนั้นในขณะนี้รัฐบาลเมียนมาเองก็มีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแสดงให้เห็นว่าเมียนมามีการเตรียมพร้อมรองรับการเข้ามาของ FDI อาทิ การเปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาในประเทศ และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆของเมียนมาได้เปิดโอกาสให้กับธุรกิจไทยในการส่งออกสินค้าไปเมียนมามากขึ้น เช่น สินค้าวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์การสื่อสาร และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปขายในเมียนมาต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการแข่ง ขันด้านราคากับสินค้าจากจีน ดังนั้นการพัฒนา และออกแบบให้สินค้ามีรูปแบบที่หลากหลาย เน้นคุณภาพและมาตร ฐานการผลิต โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคในประเทศยังเป็นจุดเด่นที่สามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้การที่เมียนมาได้สิทธิ GSP กลับคืนมาก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการผลิตไปยังเมียนมาเพื่อใช้ประโยชน์จากระบบ GSP โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูปในห้วงเวลาที่ไทยไม่ได้รับสิทธิ GSP จากประเทศพัฒนาแล้วอีกต่อไป แต่ยังต้องคำนึงถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ในระยะนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรขยายธุรกิจเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นเมืองใหญ่ๆของเมียนมาก่อน อาทิ พื้นที่รอบเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ หรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมแล้วอย่างติละวา ส่วนในระยะถัดไปนั้น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีที่เชื่อมกับอำเภอแม่สอดของไทยก็จะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีศักยภาพในอนาคต รวมไปถึงการมองไปข้างหน้าในระยะยาวอย่างการเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายซึ่งจะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 300 กม.