ชาวบรูไนไม่วางแผนเงินออม
ผลจากการศึกษาเรื่องความรู้ทางการเงินล่าสุดพบว่า ชาวบรูไนส่วนใหญ่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้นานเกิน 2 เดือนหากพวกเขาไม่มีรายได้ เนื่องจากไม่มีเงินออมสำรองในกรณีฉุกเฉิน
ทั้งนี้ผลการศึกษานี้ มีผู้เข้าร่วมให้ข้อมูล 1,867 คน จาก 70 หมู่บ้านใน 4 เขตของบรูไน 60% ของผู้ถูกสัมภาษณ์นี้ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้นานเกิน 2 เดือนหากต้องถูกให้ออกจากงานอย่างกะทันหัน และมากกว่า 30% ไม่อาจรับภาระค่าใช้จ่ายได้นานเกิน 1 เดือน
ดร.ไดอาน่า เชียง หัวหน้านักวิจัยแห่งศูนย์กลยุทธ์ และศึกษานโยบาย ผู้ทำการศึกษานี้กล่าวว่า “ถ้าพวกเขาต้องตกงาน ก็จะอยู่ได้ไม่เกิน2 เดือน ซึ่งแย่มาก เขาไม่มีเงินเก็บมากพอ”
โดยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบรูไนประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากการใช้จ่ายเงินเกินกำลัง มีหนี้สิน และการขาดวินัยทางการเงิน และจากผลการศึกษาที่เปิดเผยล่าสุด (30 ต.ค.) 34% ของครัวเรือนที่ถูกสำรวจไม่มีเงินออมและ 49% ไม่มีวินัยในการเก็บออมเงิน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงประเทศอื่น ที่จะมีเพียง 15-30% ของจำนวนประชากรเท่านั้นที่ไม่มีวินัยในการออมเงิน
“คนบรูไนไม่ใส่ใจวิธีการเก็บออมเงินนัก คิดถึงแต่การเก็บในบัญชีธนาคาร ไม่เคยพิจารณาถึงวิธีการอื่น เช่น การซื้อประกัน ” ดร.เชียง กล่าว และมีเพียง 36% ของผู้ให้ข้อมูลที่มีอายุเกิน 50 ปีเท่านั้น ที่มีเงินออมสำรองเพียงพอที่จะใช้จ่ายได้นานถึง 6 เดือน
ส่วนผลการศึกษาในแง่ของบัตรเครดิต และบัญชีธนาคารนั้น 30% ของผู้ใช้บัตรเครดิต จะผ่อนชำระหนี้คืนธนาคารและในจำนวนนี้ จะชำระคืนเฉพาะยอดเงินขั้นต่ำ โดย 23% ของผู้มีบัญชีธนาคาร จะเช็คยอดตัวเลขในบัญชีน้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
“ครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูล ไม่มีความเข้าใจพื้นฐานทางด้านการเงินเพียงพอ ขาดทักษะในการคิดคำนวณ นี่เราพูดถึงแค่ทักษะพื้นฐานที่ควรคิดตัวเลขเปอร์เซ็นต์ง่ายๆได้”
ดร.เชียง เพิ่มเติมว่า การให้ความรู้เกี่ยวกับการคำนวณดอกเบี้ยขั้นพื้นฐาน เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ชาวบรูไนบริหารจัดการการเงินได้ดีขึ้น