อินโดนีเซียขออาเซียนร่วมปราบประมงเถื่อน
กระทรวงกิจการทางทะเล และประมงแห่งอินโดนีเซีย เสนอนโยบายปฏิบัติแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจประมงผิดกฎหมาย,
ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) พร้อมขอความร่วมมือประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ช่วยกันผลักดันให้เกิดการตั้งหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อแบ่งปันข้อมูลในการป้องกัน และปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายอนาคต
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ สื่อของอินโดนีเซีย รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายอัคหมัด ซานโตซา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันประมงผิดกฎหมาย กระทรวงกิจการทางทะเล และประมงแห่งอินโดนีเซีย ซึ่งระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังผลักดันให้เกิดนโยบายปฏิบัติระดับชาติ (NPOA) ว่าด้วยกิจการทางทะเลให้มีความเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงบริบทเชิงบูรณาการในภูมิภาค
ทั้งนี้นายอัคหมัด ซานโตซา ระบุว่า การทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำทะเลอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมาเป็นการอาศัยจุดอ่อนที่อินโดนีเซียไม่มีมาตรการควบคุมและรักษาความปลอดภัยตามแนวพรมแดน ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่องด้านการประมง พร้อมยกตัวอย่างว่าเรือประมงผิดกฎหมายที่พบในน่านน้ำทะเลอินโดนีเซียเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจหรือบุคคลที่ระบุตัวตนได้ ทั้งในประเทศไทย และจีน ซึ่งมักพบปัญหาเรือประมงเถื่อนสวมใบอนุญาตหาปลาของเรือลำอื่น และการทำประมงผิดกฎหมายมักจะเกี่ยวโยงกับอาชญากรรมอื่นๆ ด้วย เช่น การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเยี่ยงทาส รวมถึงการปลอมแปลงเอกสาร นับตั้งแต่เดือน พ.ย.2557 เป็นต้นมา รัฐบาลอินโดนีเซียระงับต่อใบอนุญาตหาปลาแก่เรือประมงขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่ต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวพันกับการทำประมงผิดกฎหมาย ส่งผลให้เรือประมง 1,132 ลำจาก 187 บริษัทถูกตรวจสอบและประเมินผลจากคณะกรรมการป้องกันประมงผิดกฎหมาย พบว่าเรือประมง 907 ลำ หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของเรือทั้งหมดที่ถูกตรวจสอบ มีการกระทำผิดกฎหมายจริง กระทรวงฯ จึงได้มีคำสั่งถอนใบอนุญาตใช้เรือของ 30 บริษัท และใบอนุญาตหาปลาของ 279 บริษัท พร้อมทั้งดำเนินการตั้งข้อหาบริษัทประมงอีก 18 บริษัท
ด้วยเหตุนี้นโยบายปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายของรัฐบาลอินโดนีเซีย จะต้องเน้นย้ำเรื่องอธิปไตยในน่านน้ำ, การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิผล ตลอดจนการยกระดับความสามารถของเจ้าหน้าที่ด้านการติดตามจับกุม, ตอบโต้ และลงโทษผู้ทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งการจะบรรลุผลตามนโยบายปฏิบัติที่วางไว้ได้ รัฐบาลอินโดนีเซียจะต้องผลักดันให้เกิดการตระหนัก และยอมรับว่าประมงผิดกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ และต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อบังคับใช้กฎหมายทางทะเลอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น
ด้านนายโอโน ซูโรโน กรรมาธิการด้านเกษตร, ประมง และสิ่งแวดล้อม ประจำสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย ได้แถลงสนับสนุนมาตรการผลักดันให้รัฐบาลประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ยอมรับว่าปัญหาประมงผิดกฎหมายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะรัฐบาลประเทศอาเซียน หลังจากที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศติมอร์เลสเต, ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลีย เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำทะเลนาอูรูเป็นโครงการนำร่องไปก่อนหน้าแล้ว