มาเลย์ปลื้มข้อตกลงทีพีพี

หลังที่ประชุมกลุ่มประเทศริมขอบมหาสมุทรแปซิฟิก 12 ประเทศ
ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไนฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก ชิลี และเปรู เห็นชอบข้อตกลง “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก” (ทีพีพี) ที่จะขจัดภาษีการค้า และกำหนดมาตรฐานการค้า
การลงทุน และอื่นๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มประเทศสมาชิกซึ่งคิดเป็น 4% ของเศรษฐกิจโลก ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ ไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ทางตัวแทนจากมาเลเซียซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเทศอาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกทีพีพี
ได้ออกมากล่าวชื่นชมข้อตกลงทีพีพีซึ่งยังต้องให้รัฐสภาแต่ละประเทศสมาชิกให้สัตยาบันรับรองก่อนเพื่อบังใช้ต่อไปว่าจะช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านการค้า และเศรษฐกิจของมาเลเซีย และว่า มาเลเซียได้เจรจาจนประสบความสำเร็จหลายประการรวมทั้งระบบให้สิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มชนเชื้อสายมาเลย์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่เรียกว่า “ภูมิปุตรา”
นายมุสตาพา โมฮัมเหม็ด รมว.การค้าของมาเลเซีย แถลงว่า พวกเราเชื่อว่าด้วยข้อตกลงทีพีพี มาเลเซียจะสามารถโปรโมตวาระการค้า และการลงทุนรวมทั้งช่วยผ่อนคลายปัญหาท้าทายของภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจโลกได้ และยังทำให้มาเลเซียเข้าถึงตลาดอย่างสหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก และเปรูได้กว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าสำคัญของประเทศ อย่างเช่น น้ำมันปาล์ม ยางพาราและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยืนยันมาเลเซียจะไม่ตกลงรับเรื่องอะไรก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะระบบที่อ่อนไหวทางการเมืองที่ให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มชนชาติมาเลย์ หรือที่เรียกว่า ภูมิปุตรา ในด้านต่างๆ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
อย่างไรก็ดีมาเลเซียอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิกทีพีพีที่ถูกเรียกร้องให้ยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานด้วยหลังถูกกล่าวหามีการละเมิดสิทธิแรงงานในหลายอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านมาเลเซีย ได้วิจารณ์ข้อตกลงทีพีพีว่าดำเนินการพูดคุยเจรจากันแบบลับๆ และอาจบีบให้ผู้บริโภคต้องซื้อยารักษาโรคแพงขึ้น และมุ่งปกป้องกลุ่มบริษัทต่างชาติมากยิ่งขึ้น ฝ่ายค้านมาเลเซียยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อตกลงทีพีพีอย่างละเอียดก่อนให้สัตยาบันด้วย