ลาวสร้างทางรถไฟเปลี่ยน “แลนด์ล็อค” สู่ “แลนด์ลิงค์”
ภายหลังการประชุมใหญ่คณะรัฐมนตรี สปป.ลาว ประจำปี ระยะเวลา 3 วัน ซึ่งจัดปีละ 2 ครั้งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ด็อกเตอร์บุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงโยธาธิการ และขนส่ง ประกาศแผนพัฒนา สปป.ลาว เดินหน้าเปลี่ยนประเทศจากดินแดน “แลนด์ล็อค” ชาติไม่มีทางออกสู่ทะเล ให้เป็น “แลนด์ลิงค์” หรือทางเชื่อมสู่ภูมิภาค ด้วยการเร่งสร้างทางรถไฟอย่างน้อย 4
เส้นทางโครงการแรกเส้นทางรถไฟระยะทาง 417 กม. จากนครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งอยู่ค่อนทางภาคเหนือ ขึ้นไปสู่ชายแดนจีน โดยกำหนดเจรจากับจีนในเดือนพ.ย.นี้ เรื่องเงินค่าก่อสร้างมูลค่า 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายละเอียดค่าก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ รัฐบาล สปป.ลาว กับจีนร่วมกันลงทุน 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 60 เปอร์เซ็นต์ หาจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศของทั้งสองประเทศ
เส้นทางรถไฟสายที่ 2 จากนครหลวงเวียงจันทร์มุ่งสู่ชายแดนภาคตะวันออกถึงเวียดนามระยะทาง 450 กม. เรียกทางรถไฟสาย “A3” ทางรถไฟสายนี้อนาคตจะเชื่อมต่อกับท่าเรือของเวียดนามไล่เลาะมาถึงท่าเรือแหลมฉบังของไทยและเชื่อมขึ้นไปถึงเมืองคุนหมิง มลฑลยูนนานของจีน
แผนการศึกษาโครงการรถไฟสาย “A3” รัฐบาลสปป.ลาวได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศเกาหลี (Koica) ช่วยเหลือเงินทุนศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้นจำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มดำเนินการศึกษาภายในปลายปีนี้
อีกเส้นทางรถไฟสาย “C3” เป็นโครงการพัฒนาเชื่อมโยงจังหวัดสะหวันนะเขต ทางภาคกลางกับด่านลาวบาวของเวียดนามระยะทาง 220 กม. มูลค่าก่อสร้าง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลลาวลงนามก่อสร้างไปแล้วเมื่อปี 2555 กับบริษัทไจแอนท์ เรล คอมปานี จากมาเลเซีย โครงการนี้รัฐบาลลาวจะเชื่อมโยง “ระเบียงเศรษฐกิจจากตะวันออกสู่ตะวันตก” — East – West Economic Corridor
โยงเส้นทางรถไฟจากท่าเรือน้ำลึกของเวียดนามผ่าน สปป.ลาว ผ่านไทยไปสู่ท่าเรือน้ำลึกของเมียนมา
เมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จสมบูรณ์ เส้นทางรถไฟผ่าน สปป.ลาว จะเชื่อมโยงทั้งจากเวียดนาม จากจีนตอนใต้ผ่านไทย และจะสามารถไล่เลาะลงไปถึงมาเลเซียกับสิงคโปร์ได้อย่างสะดวกรวดเร็วในอนาคต
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เครือข่ายระบบรถไฟของ สปป.ลาว ทั้งหมดจะสร้างอยู่บนรางขนาดมาตรฐานสากล กว้าง 1.435 เมตร