อินโดฯใช้กาแฟสร้างแบตเตอรี่รถไฟฟ้า
อินโดนีเซียใช้เมล็ดกาแฟเป็นส่วนผสมผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมสร้างแหล่งพลังงานรถยนต์ไฟฟ้า หวังเป็นผู้ผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในอนาคต
คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซียในเมืองดีปอค พบวิธีการใช้เมล็ดกาแฟสกัดแยกส่วนกราไฟต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคาร์บอน นำไปใช้กระบวนการผลิตสร้างแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าชนิดลิเธียม พัฒนาต่อยอดผลิตแบตเตอรี่รองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้
ข้อดีของการใช้ส่วนผสมจากเมล็ดกาแฟนำไปสร้างแบตเตอรีลิเธียม คือ ทำให้แบตเตอรีมีน้ำหนักเบาลงและชาร์จประจุไฟได้เร็วขึ้น อีกทั้งอินโดนีเซียยังมีวัตถุดิบกาแฟมากมายในฐานะผู้ปลูกกาแฟมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก นอกจากนั้น อินโดนีเซียยังใช้กะลามะพร้าว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในวัตถุดิบมากมายที่มีอยู่ในประเทศ พัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคาร์บอนผลิตแบตเตอรีลิเธียมได้อีก

ศาสตราจารย์แอนเน ซัลเฟีย ซายาห์เรียล หัวหน้าทีมวิจัยโครงการนี้ ระบุแบตเตอรีลิเธียมอิออนของทีมวิจัยสกัดจาก “ลิเธียม ไททาเนต ออกไซด์” – LTO ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแบตเตอรีกราไฟต์ชนิดอื่นๆที่ใช้กันทั่วไปในรถยนต์ไฟฟ้า
LTO ไม่ก่อให้เกิดการลัดวงจรระหว่างกระบวนการชาร์จประจุ อย่างไรก็ตาม LTO ให้กำลังไฟ 175 mAh/g น้อยกว่าแบบกราไฟต์ ซึ่งให้กำลังไฟ 372 mAh/g ส่วนน้ำหนักแบตฯอยู่ที่ 200 กก.ส่วนแบตฯกราไฟต์ น้ำหนักประมาณ 500 กก. แบตเตอรี่น้ำหนักเบาก็ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแล่นไปได้ไกลมากขึ้น.