ทูตยูเอ็นเตรียมสอบความรุนแรงในเมียนมา
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.องค์การสหประชาชาติรายงานว่า ตัวแทนทูตด้านสิทธิมนุษยชนของเมียนมาจะตรวจสอบความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นในเมียนมาจากการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาของกองทัพ เมื่อเธอไปเยือนเมียนมาในสัปดาห์หน้า
ผู้เขียนรายงานพิเศษของยูเอ็นนางยังฮี ลี จะไปเยือนเมียนมาเป็นเวลา 12 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.นี้ โดยเธอจะไปเยือนรัฐคะฉิ่น ที่ซึ่งผู้คนหลายพันคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากการสู้รบระหว่างกลุ่มกบฎชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยกับทางกองทัพเมียนมา
การสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มกบฎชนกลุ่มน้อยสั่นคลอนชื่อเสียงที่สั่งสมมานานของนางอองซาน ซูจีที่ปฏิญาณตนว่าจะนำสันติภาพมาสู่เมียนมาหลังจากพรรคการเมืองของเธอชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว
โดยนางซูจีซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการกับทางกองทัพที่ปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่
ทั้งนี้ พื้นที่ในรัฐยะไข่ถูกปิดล้อมตั้งแต่เดือนต.ค. ส่งผลให้มีผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญานับหมื่นคนต้องหลบหนีไปยังพรมแดนที่ติดกับประเทศบังคลาเทศ
นางลีทูตยูเอ็นวิจารณ์การปราบปรามว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้และเรียกร้องให้มีการสืบสวนกรณีทหารข่มขืน สังหารและทรมานชาวมุสลิมโรฮิงญา แต่ทางกองทัพเมียนมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
“ ในช่วง 2-3 เดือนล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ประชาคมนานาชาติต้องตระหนักในการจับตามองสถานการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นั่น” นางลีแถลงเมื่อวันที่ 6 ม.ค.
“ จากเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ มีการสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน ซึ่งทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นที่กระทบต่อทิศทางที่รัฐบาลใหม่ดำเนินการในช่วงปีแรกของการบริหารประเทศ”
โดยคำวิจารณ์ของนางลีที่มีต่อปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญา ซึ่งถูกเหยียดเชื้อชาติโดยชาวพุทธซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ ทำให้เธอต้องเผชิญกับการคุกคามและการประท้วงจากชาวเมียนมาในการไปเยือนของเธอก่อนหน้านี้
พระสงฆ์หัวรุนแรงกล่าวว่าการปราบปรามในรัฐยะไข่เป็นไปเพื่อการค้นหาและหยุดยั้งกลุ่มผู้ก่อการร้ายซึ่งโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พรมแดนเมื่อเดือนต.ค.
เมื่อวันที่ 4 ม.ค.คณะกรรมการที่รัฐบาลเมียนมาจัดตั้งขึ้นรายงานผลการสืบสวนว่า ไม่พบหลักฐานว่ามีการปราบปรามเพื่อขับไล่ชาวโรฮิงญาให้ออกนอกประเทศจากทางกองทัพ และไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่ามีการข่มขืนสตรีชาวโรฮิงญาอย่างที่มีการกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเผยแพร่ผลการสอบสวนหลายวัน ทางรัฐบาลสังกักตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ 8 นายหลังจากมีวิดีโอเผยแพร่ภาพกลุ่มเจ้าหน้าที่ทุบตีและกระทืบชาวโรฮิงญาที่ไร้อาวุธอย่างทารุณหลุดออกมาในโลกออนไลน์.