เมียนมาสอบไม่พบการทารุณชาวโรฮิงญา
คณะกรรมการที่รัฐบาลเมียนมาแต่งตั้งขึ้นรายงานผลการสืบสวนสอบสวนว่า ไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่
โดยในรายงาน คณะกรรมการยังได้รายงานว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่ามีการข่มขืนสตรีชาวโรฮิงญาจำนวนมาก นอกจากนี้ ในรายงานยังไม่ได้เอ่ยอ้างถึงกรณีที่ทางกองทัพเมียนมาได้สังหารมุสลิมชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่
ทั้งนี้ มีการกล่าวหาซ้ำๆ ว่า เกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศกับชาวมุสลิมโรฮิงญานับตั้งแต่ทางกองทัพเมียนมาเข้าปราบปรามเหตุร้ายในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือนต.ค. ปีที่แล้ว โดยบางคนกล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นการทารุณกรรม และทำให้นาง อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ ในกรณีที่ปล่อยให้เกิดการปราบปรามชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่รัฐบาลเมียนมาจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนสอบสวนในกรณีนี้ จะมีการสรุปเหตุการณ์ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนสิ้นเดือนม.ค. นี้
แต่จากการสอบสวนจนถึงตอนนี้พบว่า ไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากยังมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ และมัสยิดของศาสนาอิสลามก็ไม่ได้ถูกเผาทำลายอย่างที่เป็นข่าว โดยในรายงานชี้ว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกได้ว่า ทางกองทัพมีการข่มขืนสตรีชาวโรฮิงญา
น่าแปลกที่ในรายงานไม่ได้เอ่ยถึงว่า กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้สังหารชีวิตพลเมืองเพื่อเป็นการตอบโต้กลุ่มก่อการร้ายชาวโรฮิงญาที่โจมตีเจ้าหน้าที่ทหารก่อน ทางสำนักข่าวบีบีซีรายงาน
ทั้งนี้ 3 เดือนหลังเกิดวิกฤต มีความพยายามเล็กน้อยเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยในรายงานชี้ว่ามีการจับกุมชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวนหลายร้อยคน แต่ทหารติดอาวุธยังคงเดินทางไปมาได้อย่างสะดวกและไม่พบอาวุธที่ก่อเหตุ
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ มีการกักตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายที่ปรากฎภาพในวิดีโอว่าเป็นผู้ลงมือทำร้ายชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างทารุณในระหว่างการปราบปรามเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว มีการปิดรัฐยะไข่ไม่ให้ผู้สื่อข่าวและคณะสอบสวนเข้าไปในพื้นที่ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาได้อย่างอิสระ
มีการประเมินว่า มีชาวโรฮิงญา 1 ล้านคนที่อพยพลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายจากบังคลาเทศเข้ามาในเมียนมา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ พวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองจากรัฐบาลเมียนมา ทั้งที่พิสูจน์ได้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในเมียนมามาเป็นเวลานานแล้ว
ที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญาถูกสังหารและต้องอพยพย้ายถิ่นไปมากกว่า 100,000 คนในปี 2555 และยังมีชาวโรฮิงญาอีกมากที่ยังคงติดค้างอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
ทางบังคลาเทศรายงานว่า มีชาวโรฮิงญาประมาณ 50,000 คนที่อพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา.