เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 4 โต 1.8%
เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 4 ปี 2559 ขยายตัวเติบโตเกินคาดการณ์อยู่ที่ 1.8% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งปีอยู่ที่ 1.8% อ้างอิงจากการประเมินล่วงหน้าของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.
โดยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ของ MTI อยู่ที่ 1.0 – 1.5%
ทั้งนี้ โพลล์สำรวจของนักวิเคราะห์จากสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะขยายตัวเพียง 0.3% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากมีการปรับตัวเลขขยายตัวอยู่ที่ 1.2% ในไตรมาส 3
นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์กล่าวในสุนทรพจน์เนื่องในวันปีใหม่เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ว่า “ ตัวเลขการเติบโตยังคงเป็นบวก ถึงแม้จะน้อยกว่าที่เราหวังไว้ก็ตาม ”
นายกฯ ลีกล่าวว่า รัฐบาลจับตามองตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีสัญญาณการชะลอตัว การปลดพนักงานออก หรือเลย์ออฟในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 อยู่ที่ 9,510 คน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยอัตราการว่างงานแตะระดับ 2.1% ในไตรมาส 3
“ ขณะที่ตลาดแรงงานผ่อนคลายลง ตัวเลขการว่างงานยังคงต่ำ และเรายังคงสร้างงานใหม่ ผมรู้ว่า พนักงานและแรงงานยังคงมีความกังวล แต่ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะจับตาดูอย่างใกล้ชิด ” ผู้นำสิงคโปร์กล่าว
ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนจากธนาคารกลางสิงคโปร์ ซึ่งลดตัวเลขคาดการณ์ของจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 1.4% กำลังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ปีนี้
ทั้งนี้ ตัวเลขประเมินของจีดีพีล่วงหน้าจาก MTI ประมวลจากข้อมูลใน 2 เดือนแรกของไตรมาส และจะมีการปรับแก้ไขตัวเลขเมื่อมีข้อมูลที่เจาะจงและชัดเจนยิ่งขึ้น
จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ภาคการผลิตมีการขยายตัว 6.5% ต่อปีในไตรมาส 4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าดีกว่าตัวเลขการเติบโต 1.7% ในไตรมาส 3 โดยตัวเลขการขยายตัวได้แรงหนุนจากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชีวการแพทย์ แม้วิศวกรรมการขนส่งและการผลิตทั่วไปยังคงมีการเซ็นสัญญาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกันไตรมาสต่อไตรมาส ภาคการผลิตเติบโต 14.6% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขที่หดตัวลงถึง 8.1% ในไตรมาส 3 ภาคก่อสร้างหดตัวลง 2.8% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2558 โดยสาเหตุสำคัญคือ การปรับลดลงของการก่อสร้างในภาคเอกชน
ทั้งนี้ การขยายตัวในอุตสาหกรรมภาคบริการอยู่ที่ 0.6% ปรับตัวดีขึ้นจากเดิมคือ 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมการบริการอื่นๆ การขนส่งและจัดเก็บ และธุรกิจการบริการ เมื่อเทียบกันไตรมาสต่อไตรมาส อุตสาหกรรมการบริการดีดตัวขึ้นมาด้วยตัวเลขการขยายตัวสูงถึง 9.4% ซึ่งตรงกันข้ามกับตัวเลขการหดตัว 0.4% ในไตรมาส 3.