รัฐประหาร/โควิดทำเมียนมายากจนเกือบครึ่งประเทศ
ประชากรในเมียนมาเกือบครึ่งประเทศอาจต้องกลายเป็นคนยากจนภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากประเทศหมิ่นเหม่ใกล้จะล่มสลายทางเศรษฐกิจจากวิกฤตซ้ำซ้อนทั้งการทำรัฐประหารของกองทัพและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากรายงานของสหประชาชาติ
ค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น รายรับที่น้อยลง บริการพื้นฐานที่ถูกกระทบ เช่น ธนาคาร และสาธารณสุข และความปลอดภัยทางสังคมที่ไม่เพียงพอ มีแนวโน้มที่จะผลักดันให้หลายล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว
กลายเป็นคนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนคือ 1.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 34.25 บาทต่อวัน โดยผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
บทวิเคราะห์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 29 เม.ย. เตือนว่า หากความปลอดภัยและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเมียนมายังไม่มีเสถียรภาพ ประชาชนมากถึง 25 ล้านคน หรือคิดเป็น 48% ของประชากรเมียนมาทั้งประเทศ อาจต้องใช้ชีวิตอย่างคนยากจนในปี 2565
อชิม สไตเนอร์ ผู้บริหาร UNPD ระบุว่า “ มีความชัดเจนว่า เรากำลังต่อสู้แข่งขันกับโศกนาฏกรรมที่ไม่เปิดเผยตัว”
“เรามีซัพพลายเชนที่แตกร้าว การเคลื่อนที่ของประชาชน และการเคลื่อนที่ของสินค้าและบริการ ระบบธนาคารที่ถูกระงับ ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงการโอนเงิน ไม่สามารถจ่ายเงินสวัสดิการสังคมให้ครัวเรือนที่ยากจนได้ นี่เป็นเพียงผลกระทบบางส่วนที่ส่งผลในทันที” สไตเนอร์กล่าว “ เห็นชัดว่าวิกฤตการเมืองส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น”
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เมียนมาสามารถลดอัตราความยากจนลงจาก 48.2% ในปี 2548 ลงมาอยู่ที่ 24.8% ในปี 2560 อ้างอิงจากรายงาน อย่างไรก็ตาม เมียนมายังถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในเอเชีย
ชาวเมียนมาต้องเผชิญกับวิกฤตที่ช็อกความรู้สึกถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการคุมเข้มอื่นๆ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของซัพพลายเชน ดังนั้น หลายธุรกิจ โดยเฉพาะการค้าปลีก การผลิตและการส่งออก รวมถึงธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่า ผู้ค้าในตลาด ช่างเสริมสวยและช่างตัดเสื้อล้วนได้รับผลกระทบหมด จนถึงเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว มีแรงงานพลัดถิ่นกว่า 420,000 ที่ต้องกลับบ้าน
ในรายงานยังพบว่า ภายในสิ้นปีนี้ 83% ของครัวเรือนในเมียนมามีรายได้ลดลงประมาณ 50% จากสถานการณ์โควิด-19
เหตุการณ์ช็อกความรู้สึกครั้งที่ 2 คือการที่กองทัพซึ่งนำโดยนายพลอาวุโสมินอ่องหล่ายก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.
หลังจากวันนั้น เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ รวมถึงการทำอารยะขัดขืนของ
บุคลากรทางการแพทย์ ครู ข้าราชการ และพนักงานโรงงานที่ต่างหยุดงานประท้วง โดยตั้งเป้าให้กระทบกับเศรษฐกิจและขับไล่เผด็จการทหาร
มีผู้ประท้วงถูกทหารสังหารไปมากกว่า 750 คน และถูกจับกุมกว่า 4,500 คน จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง
UNDP ประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ตัวเลขความยากจนของเมียนมาเพิ่มขึ้นจาก 24.8% เป็น 36.1% แต่หากเศรษฐกิจและสังคมที่พังจากรัฐประหารยังคงยืดเยื้อต่อไป จะทำให้ตัวเลขความยากจนพุ่งขึ้นเป็น 48.2%
บริษัทขนส่งหยุดให้บริการในประเทศ ประมาณ 80% ของการค้าเมียนมาคือการขนส่งทางทะเล UNDP ประเมินว่าการค้าท่าเรือลดฮวบลงถึง 64% ภายในสองเดือนหลังรัฐประหาร
“ โดยภาพรวม เมียนมาอยู่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจใกล้ทรุดตัว และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นรัฐล้มเหลวแห่งต่อไปของเอเชีย” รายงาน UNDP ระบุ
“หลายอย่างขึ้นอยู่กับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเมียนมาในอีกสองเดือนข้างหน้า” สไตเนอร์ระบุ