คนเมียนมาวิจารณ์ประชุมอาเซียน
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ชาวเมียนมาวิจารณ์ข้อตกลงระหว่างผบ.สูงสุดของกองทัพเมียนมากับผู้นำประเทศอื่นๆในอาเซียนที่จะยุติความรุนแรงที่กลายเป็นวิกฤตของประเทศ โดยชี้ว่า ขาดประเด็นสำคัญคือการฟื้นฟูประชาธิปไตย และความรับผิดชอบของกองทัพที่มีต่อพลเมืองที่เสียชีวิตหลายร้อยคน
ยังไม่มีการชุมนุมประท้วงในเมืองใหญ่ของเมียนมาหลังการประชุมของสุดยอดผู้นำอาเซียนกับพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายของเมียนมาในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่มีมติร่วมกันให้ยุติความรุนแรง แต่ไม่มีโรดแมปว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่งผลให้ชาวเน็ตจำนวนมากในเมียนมาใช้โซเชียลมีเดียวิจารณ์มติของอาเซียน
“แถลงการณ์ของอาเซียนเหมือนการฟาดลงบนหน้าของประชาชนที่ถูกทำร้าย และถูกสังหารโดยกองทัพ” ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ “เราไม่ต้องการความช่วยเหลือของคุณที่มีแนวคิดและวิธีการเช่นนั้น”
จากแถลงการณ์ของกลุ่มผู้นำอาเซียนที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนทรงเป็นประธานการประชุม มีมติร่วมกันใน 5 ประเด็นคือ ยุติความรุนแรง , มีการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่าย , มีผู้แทนพิเศษจากอาเซียนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย , ยอมรับความช่วยเหลือ และมีผู้แทนไปเยือนเมียนมา
แต่ฉันทามติจากการประชุมสุดยอดอาเซียนไม่ได้พูดถึงบรรดานักโทษการเมืองที่ถูกควบคุมตัวอยู่ ซึ่งรวมทั้งนางอองซานซูจีและประธานาธิบดีวินหมยิ่นด้วย แม้แถลงการณ์ของประธานจะระบุว่า การประชุมครั้งนี้ได้ยินเสียงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวคนกลุ่มนี้ก็ตาม
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวในเมียนมาระบุว่า มีผู้เสียชีวิตมากถึง 748 คนหลังประชาชนเคลื่อนไหวทำอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. ที่กองทัพยึดอำนาจจากนางซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือน
โดยทางกลุ่มระบุว่า มีผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวไว้กว่า 3,300 คน
“แถลงการณ์ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชน” Nang Thit Lwin แสดงความเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้ในสื่อเมียนมา “ต้องมีการปล่อยตัวนักโทษและผู้ที่ถูกควบคุมตัว , ต้องรับผิดชอบผู้เสียชีวิต , ต้องเคารพผลการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลพลเรือนกลับมาเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย”
ขณะที่ Aaron Htwe ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายโพสต์ว่า “ ใครจะชดใช้ให้กับ 700 กว่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่จากไป”
การประชุมอาเซียนที่ผ่านมา เป็นความพยายามที่จะร่วมมือกันในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกเพื่อคลี่คลายวิกฤตในเมียนมา ที่มีเพื่อนบ้านอย่างจีน อินเดียและประเทศไทย นอกจากการชุมนุมประท้วง ยังมีการสูญเสียชีวิตและมีการจับกุมจากทางการ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศพังทลาย
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ทำงานไปพร้อมกับรัฐบาลทหารในเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ตัวแทนพรรครัฐบาลพลเรือนที่เหลืออยู่และตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ระบุว่า ยินดีกับฉันทามติของอาเซียน แต่เผด็จการทหารต้องรับผิดชอบทำตามสัญญา
“เราเฝ้ารอการกระทำที่ชัดเจนจากอาเซียนในการติดตามผลของฉันทามติครั้งนี้ และเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยของเรา” ดร.Sasa โฆษกรัฐบาลเงากล่าว
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียน นอกจากพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายจากเมียนมา มีผู้นำจากอินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชาและบรูไน พร้อมกับรมว.ต่างประเทศจากลาว ประเทศไทย และฟิลิปปินส์