อียูคว่ำบาตรนายพลเมียนมา
วารสารทางการของสหภาพยุโรประบุว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ของเมียนมา ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังกองทัพยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือน ต้องรับผิดชอบในการบ่อนทำลายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม
“กองทัพและทางการดำเนินการภายใต้การควบคุมของ SAC ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 ด้วยการสังหารพลเมืองและผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธ” อียูระบุ
โดย 9 คนที่ถูกอียูคว่ำบาตร เป็นสมาชิก SAC และ U Chit Naing รมว.สารสนเทศก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกคว่ำบาตร
เมียนมามีการชุมนุมประท้วงเกือบทุกวันหลังรัฐประหาร และกองทัพยกระดับความรุนแรงขึ้น ขณะที่สหประชาชาติและประเทศตะวันตกต่างประณามการยึดอำนาจและความรุนแรงที่ยกระดับขึ้น
มีประชาชนถูกจับกุมหลายพันคนตั้งแต่มีรัฐประหาร และมีพลเมืองถูกตำรวจและทหารวิสามัญไปแล้วอย่างน้อย 738 ราย จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชน และจับตาสถานการณ์
มีกว่า 4,000 รายที่ถูกจับกุมตัว และ 3,261 รายที่ยังถูกควบคุมตัว จากข้อมูลของสมาคม ซึ่งถูกกองทัพกล่าวหาว่าเป็นผู้แพร่กระจายเฟคนิวส์
โดยอียูยังได้มีมาตรการคว่ำบาตรกับ Myanmar Economics Corperation Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corperation Limited (MEC) “ เพราะมีกองทัพเป็นเจ้าของและควบคุมโดยกองทัพ และเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาล” แถลงการณ์เสริม
อาณาจักรทั้งสองแห่งนี้ยิ่งกระจายผลประโยชน์ทางธุรกิจออกไปอีกหลายช่องทาง ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงเบียร์ สถานบันเทิงและยาสูบ และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกองทัพ นอกเหนือจากงบประมาณรัฐบาล โดยสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางธุรกิจกับบรรดานายพลที่ก่อรัฐประหาร นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้คว่ำบาตรบริษัทอัญมณีของรัฐด้วย
เฮโก มาส รมว.ต่างประเทศเยอรมนีระบุว่า หลังจากมีการประชุมออนไลน์กับรมว.ต่างประเทศชาติอื่นในอียู ได้ข้อสรุปว่า ” รัฐบาลทหารทำให้ประเทศเข้าสู่จุดอับไร้อนาคต นี่จึงทำให้เราเพิ่มแรงกดดันเพื่อให้กองทัพเดินไปสู่โต๊ะเจรจา”
โดยมาตรการคว่ำบาตร ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องมานาน คือการห้ามไม่ให้นักลงทุนและธนาคารจากอียูไป ประกอบธุรกิจกับบริษัทต่างๆ
กองทัพเมียนยึดอำนาจในการปกครองเมียนมาอีกครั้งหลังสิบปีของการยกระดับประชาธิปไตยในประเทศ โดยอ้างว่า มีการโกงการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.ปีที่แล้วซึ่งพรรค NLD ของนางอองซานซูจีชนะไปอย่างถล่มทลาย
เนื่องจากยังมีการชุมนุมประท้วงในวันที่ 19 เม.ย. อันโตนิโอ กูเตเรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวกับสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า กลุ่มประเทศในอาเซียนควรยกระดับอิทธิพลในภูมิภาคเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ และหาหนทางสันติเพื่อออกจากสถานการณ์หายนะนี้