อินโดฯแผ่นดินไหว 6.1 แมกนิจูด ดับ 8 คน
จาการ์ตา – เมื่อวันที่ 10 เม.ย.เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.1 แมกนิจูดบนเกาะชวาของอินโดนีเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายและมีผู้บาดเจ็บ 39 ราย จากรายงานของสำนักบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ (BNPB)
แผ่นดินไหวเกิดขึ้นราว 37 วินาทีในเวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ห่างจากมาลังไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 90 กม. และรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ในจังหวัดชวาตะวันออก ( ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 41 ล้านคน ) และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงเกาะบาหลี เกาะท่องเที่ยวชื่อดังด้วย
โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใต้ทะเลลึกลงไป 25 กม. แต่ไม่ทำให้เกิดสึนามิ จากข้อมูลของสำนักอุตุนิยมวิทยา สภาพอากาศ และธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย (BMKG)
มีผู้เสียชีวิต 5 รายในลูมาจัง ขณะที่ในมาลัง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย จากถ้อยแถลงของดร.ราดิตยา จาตี โฆษก BNPB โดยเขาเสริมว่า มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 36 ราย
แผ่นดินไหวส่งผลกระทบกับบ้านเรือนอย่างน้อย 1,189 หลัง โดยในจำนวนนี้ พังเสียหายหนักถึง 85 ราย รวมถึงอีก 150 แห่งคือสถานที่ราชการ โรงเรียนและมัสยิด ในหลายเมืองทั่วชวาตะวันออก
ดร.ราดิตยาระบุว่า สำนักบรรเทาภัยพิบัติท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วยการจัดตั้งครัวและที่พักพิงในชุมชน
ในช่วงเช้าของวันที่ 11 เม.ย. เกิดอาฟเตอร์ช็อกที่มีความรุนแรงขนาด 3.1 – 5.3 แมกนิจูดตามมาอีก 8 ครั้ง จากข้อมูลของ BMKG
โดยในวันที่ 10 เม.ย. ทางหน่วยงานได้ออกประกาศเตือนผู้อาศัยในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวให้ระวังน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม
Kompass.com รายงานโดยอ้างอิงถ้อยแถลงของ ศ.ดวีโครีตา คาร์นาวาตี ผอ. BMKG ว่า “ หลังเกิดแผ่นดินไหว พื้นที่ลาดชันไม่มั่นคง หากมีฝนตกในพื้นที่ อาจทำให้เกิดดินถล่มได้”
โดยคำเตือนเบื้องต้นในวันที่ 11 เม.ย. คืออาจมีฝนตกระดับกลางถึงหนักในหลายพื้นที่ของชวาตะวันออก รวมทั้งมาลังและบลิทาร์
สัปดาห์ที่แล้ว พายุไซโคลนเซโรจา ทำให้เกิดฝนตกหนักยาวนาน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในนูซา เติงการาตะวันออก และนูซา เติงการาตะวันตก โดยศ.ดวีโครีตาระบุว่า แผ่นดินไหวขนาด 4.1 แมกนิจูดเขย่านูซา เติงการาตะวันออกหนึ่งวันก่อนที่จะเกิดฝนตกหนักในจังหวัด
จนถึงวันที่ 10 เม.ย. มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 174 รายและมีผู้สูญหาย 48 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิตในนูซา เติงการาตะวันตก 2 ราย
ก่อนหน้านี้ ในเดือนม.ค. เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.2 แมกนิจูดบนเกาะสุลาเวสี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย
เนื่องจากที่ตั้งของประเทศอยู่บน ‘วงแหวนแห่งไฟ’ คือแผ่นเปลือกโลกชนกัน ทำให้อินโดนีเซียประสบกับภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ทั้งภูเขาไฟระเบิด และแผ่นดินไหว ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดสึนามิตามมา