ญี่ปุ่นระงับความช่วยเหลือเมียนมา

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่น โทชิมิตสุ โมเทหงิ ระบุว่า ญี่ปุ่นได้ระงับการให้ความช่วยเหลือครั้งใหม่กับเมียนมาเพื่อเป็นการตอบโต้การทำรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ในขณะที่การปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงถูกประณามจากประชาคมนานาชาติ
ญี่ปุ่นมีความเคลื่อนไหวหลังจากถูกวิจารณ์ว่าแสดงจุดยืนที่อ่อนเกินไปกับเมียนมา เมื่อเทียบกับสหรัฐฯและประเทศตะวันตกอื่นๆ ที่ประกาศมาตรการคว่ำบาตรบรรดานายพลที่ก่อรัฐประหารทั้งในส่วนทรัพย์สินส่วนบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีการยึดอำนาจการปกครองมาจากนางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือน
“ ญี่ปุ่นเป็นประเทศรายใหญ่ที่สุดที่ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับเมียนมา และเราไม่มีแผนจะให้ความช่วยเหลือเพิ่มอีก เรามีจุดยืนที่ชัดเจน” รมว.โมเทหงิกล่าวในการประชุมสภา
โมเทหงิชี้แจงว่าความช่วยเหลือเพื่อประเทศกำลังพัฒนาจากรัฐบาล หรือ ODA จะเป็นแรงกดดันมากขึ้นกับรัฐบาลทหารเมียนมายิ่งกว่าการคว่ำบาตร โดยระบุว่า “ ผมคิดว่ามันชัดเจนขึ้น หากคุณพิจารณาดูจะทราบว่านี่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“ การจะพูดว่า เป็นเรื่องดีและกล้าหาญที่ประกาศคว่ำบาตร หากไม่ประกาศจะดูขี้ขลาดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลเลยที่จะมาแบ่งขั้วเช่นนั้นในเวทีนานาชาติ” เขาระบุ
อ้างอิงจากกระทรวงต่างประเทศ ความช่วยเหลือที่ญี่ปุ่นให้กับเมียนมามีมูลค่าเกือบ 190,000 เยน หรือราว 53,357 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2562 จนถึงตอนนี้ ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุด มากกว่าจีน ซึ่งไม่เคยเปิดเผยข้อมูล
กองทัพเมียนมาใช้กำลังทหารในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนในวันที่ 29 มี.ค. อ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิที่จับตามองสถานการณ์ในเมียนมา
ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับสมาชิกกลุ่มประเทศ G7 ในการประณามการก่อรัฐประหาร และขอให้มีการปล่อยตัวนางซูจี ประธานาธิบดีวิน มหยิ่น และนักการเมืองพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว
กองทัพที่นำโดยพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้ง และประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 1 ปี
แต่รัฐบาลญี่ปุ่นลังเลใจที่จะประกาศมาตรการคว่ำบาตรเนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกับเมียนมาและความสัมพันธ์กับกองทัพ ซึ่งปกครองเมียนมามาตั้งแต่ปี 2505 – 2554 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังกังวลว่าจีนจะชิงความได้เปรียบจากสถานการณ์นี้ และมีอิทธิพลมากขึ้นในเมียนมา
ญี่ปุ่นมีประมาณ 450 บริษัทในเมียนมา ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต และญี่ปุ่นนับเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ในเมียนมา อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาล