เมียนมาประท้วงต่อ ชาติอาเซียนเริ่มกดดันมากขึ้น

ย่างกุ้ง – เมื่อวันที่ 20 มี.ค.มีการประท้วงต่อต้านรัฐประหารอีกครั้งในเมียนมา ขณะที่นานาชาติกดดันบรรดานายพลให้หยุดทำร้ายผู้ชุมนุม โดยเพื่อนบ้านในอาเซียนร่วมประณามการใช้ความรุนแรงผิดกฎหมาย
สื่อในประเทศรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอีก 2 รายหลังทหารเปิดฉากยิงตลอดคืนในเมืองโม่โกะ ซึ่งเป็นเมืองทำเหมืองแร่ทับทิมทางเหนือของประเทศ ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 237 รายตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหว
เหตุการณ์รุนแรงนองเลือดที่ผ่านมาไม่อาจหยุดยั้งประชาชนไม่ให้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อได้ โดยชาวเมียนมาแสดงออกถึงความไม่พอใจที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจและควบคุมตัวนางอองซานซูจีไว้จนถึงตอนนี้
แต่บรรดานักเคลื่อนไหวระบุว่า พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการชุมนุมประท้วง โดยจะประท้วงในช่วงที่ไม่มีตำรวจหรือทหาร และเมื่อทราบว่าจะมีตำรวจ หรือทหารมา ก็จะสลายตัวกันอย่างรวดเร็ว
ในวันที่ 20 มี.ค.มีผู้ชุมนุมหลายสิบคนรวมตัวกันในเมืองมัณฑะเลย์ มีหลายคนบาดเจ็บเมื่อมีรถคนหนึ่งพุ่งเข้ามาและตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมรถคันนี้จึงพุ่งเข้าหาผู้ประท้วง
ประเทศตะวันตกประณามการทำรัฐประหารและความรุนแรงในเมียนมาหลายครั้ง ขณะที่ประเทศในอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาสงวนท่าทีไม่วิจารณ์ปัญหาในประเทศของกันและกัน เริ่มออกโรงเตือนให้เมียนมายุติความรุนแรงเช่นกัน
โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียระบุว่า เขาจะขอให้สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์แห่งบรูไน ซึ่งเป็นประธานอาเซียน เรียกประชุมฉุกเฉิน
“อินโดนีเซียขอให้หยุดการใช้ความรุนแรงในเมียนมาในทันทีเพื่อไม่ให้มีเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก” วิโดโดระบุในถ้อยแถลงทางออนไลน์ “ สิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน”
ขณะที่นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซินแห่งมาเลเซียสนับสนุนความเห็นของผู้นำอินโดฯที่ให้มีการจัดการประชุมฉุกเฉิน โดยระบุว่าเขาตกใจที่ยังมีการใช้ความรุนแรงผิดกฎหมายกับผู้ชุมนุมที่ประท้วงอย่างสันติ
เทโอโดโร ลอกซิน รมว.ต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่า อาเซียนต้องแสดงท่าที สิงคโปร์เองก็พูดต่อต้านความรุนแรงและรัฐประหาร โดยมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซูจีได้
นางซูจีนำพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ปีที่แล้วได้อย่างถล่มทลาย แต่กองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง หลังยึดอำนาจ นายพลมินอ่องหล่ายสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ระบุวันที่
ซูจีในวัย 75 ปี ถูกตั้งข้อหาว่ารับเงินสินบนและข้อหาอื่นอีก ทั้งครอบครองวิทยุสื่อสารผิดกฎหมายและละเมิดมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เธอหมดสิทธิทางการเมือง และอาจถูกตัดสินโทษจำคุก
ทนายความของเธอระบุว่าข้อหาทั้งหมดถูกทางกองทัพตั้งขึ้นมาเอง และปัจจุบันเธอถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานที่ไม่เปิดเผย