เมียนมาปะทะนองเลือด ดับ 39 คน
ในวันที่ 15 มี.ค. นักเคลื่อนไหวในเมียนมามีแผนจะชุมนุมประท้วงต้านรัฐประหารอีก หนึ่งวันหลังจากมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 39 รายจากการปะทะระหว่างผู้ชุมุนมกับเจ้าหน้าที่ในเมืองย่างกุ้ง และมีการเผาโรงงานหลายแห่งที่เจ้าของเป็นชาวจีน
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้สังหารผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยอย่างน้อย 22 คนในเขตไลง์ตายาของนครย่างกุ้งในวันที่ 14 มี.ค. จากข้อมูลของกลุ่มสนับสนุนการชุมนุม
ขณะที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่า มีผู้ชุมนุมประท้วงอีก 16 คนที่ถูกสังหารในที่อื่นๆ รวมถึงตำรวจหนึ่งนาย ทำให้เป็นวันที่นองเลือดที่สุดนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากนางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถล่มทลาย
สื่อภาครัฐรายงานการประกาศกฎอัยการศึกในเขตไลง์ตายาและชเวปตียาของย่างกุ้ง
สถานทูตจีนระบุว่า มีพนักงานจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บและติดอยู่ในเหตุเพลิงไหม้จากการลอบวางเพลิงที่โรงงานเสื้อผ้าในเขตไลง์ตายา และเรียกร้องให้เมียนมาคุ้มครองทรัพย์สินและพลเมืองชาวจีน ที่ผ่านมา จีนถูกมองว่าให้การสนับสนุนกองทัพในการยึดอำนาจ
สื่อในประเทศรายงานว่า ขณะที่มีควันไฟลอยขึ้นมาจากเขตอุตสาหกรรม ฝั่งเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงเปิดฉากยิงเข้าใส่ผู้ประท้วงในเขตตัวเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแรงงานอพยพจากทั่วประเทศ
“ เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก มีคนถูกยิงต่อหน้าต่อตา คงติดอยู่ในความทรงจำของผมไปตลอด” ช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวให้สัมภาษณ์
สถานีโทรทัศน์ของกองทัพรายงานว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงต้องเข้าปฏิบัติการหลังโรงงานเสื้อผ้า 4 แห่งและโรงงานปุ๋ยถูกไฟไหม้
สถานทูตจีนระบุว่าสถานการณ์นี้ “ร้ายแรงมาก” หลังจากมีการโจมตีโรงงานของชาวจีน
ทำให้จีนขอให้ทางการเมียนมา “ยุติปฏิบัติการรุนแรง ลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย รวมถึงคุ้มครองความปลอดภัยให้ชีวิตและทรัพย์สินของบริษัทจีนและชาวจีน”
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบในการวางเพลิงเผาโรงงาน
เอีย ทินซาร์ หม่อง ผู้นำในการประท้วงโพสต์เฟซบุ๊กว่า มีโรงงานเพียง 2 แห่งที่ถูกเผา
“ หากคุณอยากทำธุรกิจในเมียนมาอย่างมั่นคง ควรเคารพชาวเมียนมาด้วย สู้ๆไลง์ตายา เราภูมิใจในตัวคุณ”
ขณะที่บทบรรณาธิการของสื่อโกลบอลไทม์ ประณามเหตุเผาโรงงานของจีนในเมียนมาว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน
“เราขอให้ฝั่งเมียนมาหยุดการกระทำที่เป็นอาชญากรรมแบบนี้ ลงโทษผู้บงการและชดเชยความเสียหายให้โรงงานจีน ”
นางซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวหลังรัฐบาลทหารยึดอำนาจ ถูกตั้งข้อหาหลายข้อหา ทั้งการครอบครองวิทยุสื่อสารผิดกฎหมายและละเมิดมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ในสัปดาห์ที่แล้ว เธอถูกตั้งข้อหาเพิ่มว่าทุจริตรับเงินสินบน
เธอมีกำหนดปรากฎตัวออนไลน์เพื่อฟังการไต่สวนที่ศาลในวันที่ 15 มี.ค. แต่ทนายความของเธอระบุว่า สัญญาณอินเทอร์เน็ตถูกตัด ทำให้ไม่มีการไต่สวนผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ และจะมีการพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 24 มี.ค.
นอกจากเขตไลง์ตายา มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 รายในพื้นที่อื่นๆของเมียนมา ทั้งมัณฑะเลย์และพะโค (หงสาวดี) ซึ่งสถานี MRTV ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตมีบาดแผลที่อกหลังมีการเผชิญหน้ากับผู้ประท้วง