ตำรวจเมียนมาสลายม็อบรุนแรง ดับ 18 ราย
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ตำรวจเมียนมายิงใส่ผู้ประท้วงทั่วประเทศ นับเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีรัฐประหารของกองทัพ และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย จากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
หน่วยกู้ชีพกล่าวกับสื่อว่า มีชาย 3 คนถูกยิงในเมืองทวาย ทางใต้ของประเทศ ขณะที่มีวัยรุ่นเสียชีวิตอีก 2 คนในเมืองหงสาวดี
ทนายความของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจระบุในเฟซบุ๊กว่า ชายคนที่ 6 เสียชีวิตในเมืองย่างกุ้ง
สื่อรอยเตอร์รายงานว่า ตำรวจยิงใส่ผู้ชุมนุมในหลายพื้นที่ของเมืองย่างกุ้ง หลังจากการใช้ระเบิดแสง แก๊สน้ำตา และการยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่ฝูงชนไม่ได้ผล โดยมีทหารเข้ามาร่วมปราบจลาจลกับตำรวจด้วย
มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้พื้นถนนมีรอยเลือดเป็นทาง ชายคนหนึ่งเสียชีวิตขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยเขาถูกกระสุนนัดหนึ่งเข้าที่อก จากข้อมูลของแพทย์ที่ไม่ประสงค์ออกนาม
“ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเผชิญหน้ากับการเดินขบวนอย่างสงบ ใช้อำนาจสำหรับสังหาร และที่รุนแรงน้อยกว่านั้น จากข้อมูลเชื่อถือได้ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 รายและมีผู้บาดเจ็บกว่า 30 ราย” จากถ้อยแถลงของยูเอ็น
“ มีรายงานผู้เสียชีวิต อันเป็นผลจากการยิงกระสุนเข้าใส่ฝูงชนในย่างกุ้ง ทวาย มัณฑะเลย์ มะริด หงสาวดี และ ปะก็อกกู มีการใช้แก๊สน้ำตาในหลายเมือง รวมถึงระเบิดแสง”
ในบรรดาผู้เสียชีวิต เป็นผู้ประท้วง 3 รายในทวาย
มีการชุมนุมประท้วงของครูในย่างกุ้ง และมีครูคนหนึ่งเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของตำรวจ นอกจากนี้ ตำรวจยังใช้ระเบิดแสงหน้าโรงเรียนแพทย์ย่างกุ้งด้วย และมีการจับกุมตัวทีมแพทย์ไปกว่า 50 คน
มิเชล บาเชเลต ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเรียกร้องซ้ำให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดทันที ซึ่งรวมถึงคณะรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง
“ประชาชนเมียนมามีสิทธิที่จะเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ” ราวีนา ชามดาซานี โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุ
“ตำรวจและทหารต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ควรมีการกดดันที่รุนแรงและนองเลือด”
“ เฉพาะวันนี้วันเดียว ตำรวจควบคุมตัวแพทย์และนศ.แพทย์ไปอย่างน้อย 85 คน รวมถึงผู้สื่อข่าวอีก 7 คน ที่อยู่ในการชุมนุม”
“ มีการจับกุมและควบคุมตัวประชาชนไปแล้วกว่า 1,000 คนในเดือนก.พ. หลายคนหายไปโดยไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน”
“ ประชาคมนานาชาติต้องยืนหยัดอย่างมีเอกภาพกับผู้ประท้วง และผู้ที่ต้องการให้มีการคืนประชาธิปไตยให้เมียนมา”
สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกของยูเอ็นระบุในแถลงการณ์ว่า “ การใช้อำนาจสังหารต่อผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสันติ และการจับกุมตามอำเภอใจเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”
“ เลขาธิการยูเอ็นขอให้ประชาคมนานาชาติร่วมกันส่งสัญญาณชัดเจนให้กองทัพว่า ต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนเมียนมาที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง และหยุดการกดขี่ข่มเหง” ดูจาร์ริกกล่าว