ราชการเมียนมาสไตรค์ เริ่มส่งผลกระทบ
ย่างกุ้ง : โรงพยาบาลรัฐโล่ง สถานที่ราชการมืด และรถไฟไม่วิ่งออกจากสถานีในเมียนมาตอนนี้
แม้จะมีความเสี่ยงกับชีวิตและความเป็นอยู่ แต่ข้าราชการจำนวนมากในเมียนมาปฏิเสธที่จะทำงานให้รัฐบาลทหาร โดยการทำอารยะขัดขืนขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆในเมียนมาขณะนี้
“กองทัพอยากพิสูจน์ว่าบริหารประเทศได้ เป็นรัฐบาลได้ แต่ถ้า ข้าราชการไม่ทำงาน แผนยึดครองอำนาจของทหารก็จะล้มเหลว” ธิดา อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งขอใช้นามสมมติ กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ในช่วงเวลาที่หลายเมืองอยู่ในภาวะชะงักงันจากการหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่
สามอาทิตย์หลังรัฐประหาร เธอปฏิเสธที่จะทำการสอนออนไลน์ โดยเธอเข้าร่วมกับการทำอารยะขัดขืนของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ด้วยการหยุดงานประท้วง และหลายคนต้องหาที่ซ่อนจากการออกหมายจับของทางรัฐบาลทหาร
ตั้งแต่เมืองหลวงอย่างกรุงเนปิดอว์ ไปจนถึงเมืองท่าเรือ แรงงานในภาคเอกชนเริ่มผละงานจากสำนักงานและโรงงาน ทำให้ธนาคารหลายสาขาต้องปิดทำการ
ถ้าข้าราชการไม่ทำงาน รัฐบาลก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ ส่งบิลค่าไฟฟ้าไปตามบ้าน ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชน หรือแม้แต่ขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าไปได้แม้ในจุดเล็กๆ
ทำให้ตอนนี้ เมียนมา ซึ่งเกิดวิกฤตการเงินอยู่แล้วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งอยู่ในภาวะแย่ลงอีก เนื่องจากต่างชาติปฏิเสธที่จะมาลงทุนในเมียนมาหลังการทำรัฐประหารของกองทัพ
ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีข้าราชการจากทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคนในเมียนมาเข้าร่วมในการทำอารยะขัดขืนกี่คน
ผลสำรวจที่จัดทำกับคนจำนวนมากพบว่า สมาชิกของ 24 กระทรวงในรัฐบาลเข้าร่วมกับการหยุดงานประท้วงในตอนนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่พิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมาประเมินว่า 3 ใน 4 ของข้าราชการหยุดงานประท้วง และผลกระทบจากเรื่องนี้เริ่มเห็นได้ชัดแล้ว
ในสัปดาห์นี้ นายพลอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้นำในการทำรัฐประหารระบุว่า 1 ใน 3 ของโรงพยาบาลในเมียนมาไม่มีการให้บริการอีก
โดยขณะที่เขากล่าวประณามบุคลากรทางการแพทย์ที่ละทิ้งหน้าที่ เขาก็แย้มเป็นนัยว่า บรรดาแพทย์และครูที่ยังทำงานอยู่จะได้รับรางวัลเป็นเงินสด อ้างอิงจากรายงานของสื่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา
ผู้ที่หยุดงานประท้วงทำใจแล้วว่าอาจจะต้องประสบกับสภาวะขัดข้องทางการเงิน ทำให้หลายกลุ่มเข้ามาให้การสนับสนุน ทั้งอาหารและที่พักพิง ขณะที่สมาชิกของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกยึดอำนาจให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินชดเชยให้ข้าราชการ เมื่อกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง ทำให้หลายคนมีความหวังมากขึ้น รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างธิดาด้วย
“ ฉันไม่กังวลว่าจะเสียงานไป เพราะฉันเชื่อว่าประชาธิปไตยจะกลับมาอีกครั้ง”