ประท้วงเมียนมา เสียชีวิตรายแรก
นักศึกษาหญิงวัย 20 ปีที่ถูกยิงศีรษะในกรุงเนปิดอว์ของเมียนมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ได้เสียชีวิตลงแล้ว จากข้อมูลของเพื่อนครอบครัวเธอ ทำให้เป็นผู้เสียชีวิตรายแรกตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ
Mya Thwate Thwate Kaing เป็นผู้ชุมนุม 1 ใน 2 รายที่มีอาการวิกฤตเมื่อวันที่ 9 ก.พ. หลังจากตำรวจเมียนมายิงปืน แก๊สน้ำตา และฉีดพ่นน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ผู้ประท้วงทั่วประเทศ ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 20 ราย
การชุมนุมเดินขบวนในกรุงเนปิดอว์กลายเป็นเหตุรุนแรงเมื่อตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ม็อบ แต่แพทย์ที่โรงพยาบาลให้สัมภาษณ์สื่อในเวลาต่อมาว่า มีอย่างน้อย 2 รายที่บาดเจ็บหนักจากกระสุนจริง
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยืนยันการเสียชีวิตของเธอในเวลา 11.00 น. และระบุว่าจะมีการชันสูตรร่างของเธอในเวลา 15.00 น. เนื่องจากเป็น “กรณีที่ไม่ยุติธรรม”
“เราจะบันทึกสาเหตุการเสียชีวิตและส่งสำเนาไปที่ทางการ เราเรียกร้องความยุติธรรมและจะเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อไป” แพทย์คนหนึ่งกล่าว
เขาเสริมว่า เจ้าหน้าที่รพ.ถูกกดดันอย่างหนักตั้งแต่เธอได้รับการรักษาอยู่ในห้องไอซียู
“ หลายคนออกจากรพ.ไปแล้ว เพราะถูกกดดัน” เขาระบุ
Zaw Min Tun โฆษกกองทัพที่กลายเป็นรมช.สารสนเทศยืนยันในสัปดาห์นี้ว่า เธอถูกยิง และระบุว่าทางการจะสอบสวนในเรื่องนี้
ข่าวการเสียชีวิตของเธอมีขึ้นในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ประท้วงทั่วเมียนมาเพิ่มเป็นหลายแสนคน นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในวันที่ 1 ก.พ.
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่มีการชุมนุมอย่างสงบในหลายเมืองใหญ่ ด้วย 3 ข้อเรียกร้องสำคัญคือ ปล่อยตัวผู้นำที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งนางอองซานซูจี , ยอมรับผลการเลือกตั้งปี 2563 ที่พรรคการเมืองของเธอชนะอย่างถล่มทลาย และกองทัพต้องถอนตัวจากการเมือง
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรค NLD ของนางซูจีประณามการกระทำของตำรวจที่มีต่อผู้ชุมนุม
ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรทหารเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร และแช่แข็งทรัพย์สินประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯของบรรดานายพลในกองทุนรัฐบาลในสหรัฐฯ
บรรดานายพลที่ก่อรัฐประหารซึ่งนำโดยนายพลอาวุโสมินอ่องหล่ายกระชับอำนาจ ด้วยการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ห้ามการชุมนุมรวมตัวกันในที่สาธารณะ ออกกฎหมายปราบผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร ด้วยบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี โดยถือเป็นข้อหากบฎ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีการชุมนุมประท้วงต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ