เมียนมาประท้วงต้านรัฐประหารต่อเนื่อง
ย่างกุ้ง – เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ผู้ชุมนุมชาวเมียนมากลับมาเดินขบวนประท้วงบนถนนหลายสายในกรุงเนปิดอว์อีกเป็นวันที่ห้าแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากการปะทะกันในการประท้วงต้านรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากนางอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง
สหรัฐฯและสหประชาชาติประณามการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งต้องการเรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้รัฐบาล และปล่อยตัวนางซูจีและผู้นำรัฐบาลคนอื่นๆที่ถูกควบคุมตัวและบรรดานักเคลื่อนไหว
ประชาชนนับแสนคนเข้าร่วมในการเดินขบวนที่ถนนสายหลักในนครย่างกุ้ง ขณะที่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเนปิดอว์ บรรดาข้าราชการหลายร้อยคนเข้าร่วมในการทำอารยะขัดขืน โดยเริ่มต้นจากบุคลากรทางการแพทย์
กลุ่มตำรวจในรัฐกะยา ทางตะวันออกของประเทศเข้าร่วมกับผู้ชุมนุม และเดินในเครื่องแบบพร้อมทำสัญลักษณ์ว่า “ เราไม่ต้องการเผด็จการทหาร” อ้างอิงจากภาพที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย
ไม่มีรายงานความรุนแรงในวันที่ 10 ก.พ. แต่แพทย์คนหนึ่งระบุว่า ทหารบุกเข้ายึดคลินิกแห่งหนึ่งที่ทำการรักษาผู้ประท้วงที่บาดเจ็บในกรุงเนปิดอว์ ขณะที่แพทย์อีกคนหนึ่งระบุว่า คาดว่าผู้ประท้วงหญิงคนหนึ่งจะเสียชีวิตเนื่องจากถูกยิงเข้าที่ศีรษะในช่วงที่มีการเผชิญหน้ากับตำรวจ โดยเธอได้รับบาดเจ็บ เมื่อตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่
มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บอีกในเมืองมัณฑะเลย์และเมืองอื่นๆ เนื่องจากทหารใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงสลายการชุมนุมและเข้าจับกุมผู้ประท้วงนับสิบคน
กองทัพประกาศห้ามประชาชนรวมตัวชุมนุมกันและมีมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถานในยามค่ำคืนในหลายเมืองใหญ่ของเมียนมา
ในวันที่ 9 ก.พ. ตำรวจบุกเข้าค้นสำนักงานใหญ่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรค NLD ของซูจี ในเมืองย่างกุ้งในช่วงเวลาที่ประกาศมาตรการเคอร์ฟิว
นอกเหนือจากการชุมนุมประท้วง ความเคลื่อนไหวเพื่อแสดงอารยะขัดขืนส่งผลกระทบกับทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนและสถานที่ราชการ โดยเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าและกระทรวงพลังงานในกรุงเนปิดอว์เป็นกลุ่มล่าสุดที่มีความเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารในวันที่ 10 ก.พ.
Min Ko Naing นักเคลื่อนไหวเรียกร้องในเฟซบุ๊กให้ข้าราชการทุกคนเข้าร่วมในการแสดงอารยะขัดขืน และให้ประชาชนสอดส่องผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมเลย
“เราขอชื่นชมยกย่องพวกเขาและอยากปกป้องพวกเขา เรายังเตรียมดำเนินการกับผู้ที่ขู่และกดดันเราด้วย” และตอนนี้ ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกูจะไปไกลเกินกว่าให้กองทัพคืนอำนาจให้ประชาชน
โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่อยู่ภายใต้การกำกับของทหาร ซึ่งให้สิทธิกับบรรดานายพลให้สามารถออกเสียงวีโต้ในสภาและควบคุมบรรดารัฐมนตรีได้ และส่งผลกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในเมียนมา
นางซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐถูกตั้งข้อหานำเข้าวิทยุสื่อสารวอล์กกี้-ทอล์กกี้ผิดกฎหมาย 6 เครื่อง และจะถูกควบคุมตัวจนถึงวันที่ 15 ก.พ. โดยทนายความของเธอระบุว่า ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบเธอเลย
ซูจียังคงได้รับความนิยมจากประชาชนในเมียนมา แม้ชื่อเสียงของเธอในระดับนานาชาติจะมัวหมองลงมากจากวิกฤตชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกทหารเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และต้องลี้ภัยออกจากเมียนมา โดยในเวลานั้น เธอเข้าข้างทหารและชี้แจงแก้ตัวให้กองทัพในประเด็นนี้อยู่ตลอด