เมียนมาบล็อกโซเชียลมีเดีย หลังมีประท้วง
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. กองทัพเมียนมาที่ทำรัฐประหารปิดระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศ เนื่องจากมีประชาชนหลายพันคนที่ออกมาประท้วงต้านรัฐประหารบนนถนนหลายสายในนครย่างกุ้งในสัปดาห์นี้ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซานซูจี อดีตผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกทหารควบคุมตัว
ในการเดินขบวนประท้วงครั้งแรกนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. บรรดานักเคลื่อนไหวพากันตะโกนว่า
“ กองทัพ เผด็จการ แพ้ แพ้ ประชาธิปไตย ชนะ ชนะ” และถือป้ายที่มีข้อความว่า “ต้านเผด็จการทหาร” และมีชาวบ้านนำอาหารและน้ำมามอบให้พวกเขาตลอดทาง
ผู้ประท้วงส่วนใหญ่สวมชุดสีแดง ซึ่งเป็นสีประจำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรค NLD ของนางซูจี ซึ่งชนะการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.ปีที่แล้วอย่างถล่มทลาย แต่บรรดานายพลของกองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง
เนื่องจากผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมในการประท้วง ทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตของเมียนมาล่ม
กลุ่มสังเกตการณ์ NetBlocks Internet Observatory รายงานว่าระบบอินเทอร์เน็ตล่ม โดยทวีตบนทวิตเตอร์ว่า การเชื่อมต่อลดลงเหลือ 54% จากระดับปกติ ขณะที่พยานรายงานว่ามีการปิดระบบบริการข้อมูลของโทรศัพท์มือถือและ wifi
ทางกองทัพไม่ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ แต่พยายามบล็อกการใช้งานเฟซบุ๊กอย่างเงียบๆ และขยายขอบเขตการบล็อกไปที่ทวิตเตอร์และอินสตาแกรมในวันที่ 6 ก.พ.
Telenor Asa บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจากนอร์เวย์ระบุว่า ทางการสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดการเข้าถึงทวิตเตอร์และอินสตาแกรม “โดยไม่มีกำหนด”
เครือข่ายพลเมืองเมียนมาเรียกร้องให้บริษัทผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือท้าทายคำสั่งของกองทัพที่ให้บล็อกการเข้าถึง
“ การปฏิบัติตามคำสั่ง ทำให้บริษัทของพวกคุณมีส่วนให้อำนาจของกองทัพถูกต้องตามกฎหมาย แม้นานาชาติจะประณามการรัฐประหารก็ตาม ” แถลงการณ์ของกลุ่มระบุ
กองทัพทำรัฐประหารและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนาน 1 ปี และสัญญาจะคืนอำนาจให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยไม่มีการกำหนดกรอบเวลา
นางซูจี วัย 75 ปี ไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณะตั้งแต่รัฐประหาร เธอเคยถูกกักบริเวณในบ้านพักของเธอนาน 15 ปีในระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองกับเผด็จการทหารก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2554
ทนายความของซูจีและอดีตประธานาธิบดีวิ่น-มหยิ่นถูกควบคุมตัวในบ้านพัก และยังไม่สามารถเข้าพบทั้งสองคนได้เพราะยังถูกทางการสอบสวนอยู่ โดยซูจีถูกกล่าวหาว่านำเข้าวิทยุสื่อสารวอล์กกี้-ทอล์กกี้ผิดกฎหมาย ขณะที่วิ่น-มหยิ่นถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
บรรดานายพลทหารมีผลประโยชน์ในต่างประเทศไม่มากที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของนานาชาติ แต่การลงทุนทางธุรกิจอย่างมหาศาลของกองทัพในประเทศอาจได้รับผลกระทบหากหุ้นส่วนต่างชาติถอนตัว โดยรายแรกคือบริษัทผู้ผลิตเบียร์คิรินของญี่ปุ่นระบุว่า จะระงับการลงทุนในเมียนมาเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา