จีดีพีอินโดฯติดลบครั้งแรกหลังปี 41
จาการ์ตา – ตัวเลขจีดีพีของอินโดนีเซียลดลงเกินคาดการณ์ในไตรมาส 4 ของปี 2563 และเป็นการติดลบตลอดปีครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า จีดีพีหดตัว 2.19% ในไตรมาสเดือนต.ค. – ธ.ค. มากกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 2% แต่น้อยกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ติดลบถึง 3.49%
“ การใช้จ่ายทุกภาคส่วนในปี 63 ยังคงหดตัว ยกเว้นส่วนงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาล แต่โดยทั่วไป ไม่ลดลงมากเท่าไตรมาส 3 หรือ 2 ซึ่งชี้ว่าตัวเลขปรับดีขึ้น” สุฮาริยันโต ผอ.สำนักงานสถิติระบุในการแถลงข่าว
เศรษฐกิจอินโดนีเซียดิ่งเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศประสบกับความยากลำบากในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยอินโดนีเซียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมและผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้มากที่สุดในอาเซียน
สำหรับปี 2563 จีดีพีอินโดนีเซียดิ่งลง 2.07% จากปีก่อนหน้า นับเป็นตัวเลขติดลบครั้งแรกหลังปี 2541 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียเป็นต้นมา หลังมีตัวเลขเศรษฐกิจเติบโต 5% ในปี 2562
โดยตัวเลขสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลของนักวิเคราะห์ที่ระบุว่าจีดีพีจะติดลบ 2% และรัฐบาลคาดการณ์ว่าจะติดลบประมาณ 1.7% – 2.2%
รัฐบาลตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 5% ในปีนี้ เนื่องจากมีโครงการฉีดวัคซีนที่เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
“ เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนในปีนี้ที่จะผลักดันให้กลับมาเป็นปกติ” ราดิกา ราโอ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ DBS ระบุ โดยเสริมว่าอัตรการติดเชื้อไวรัสในอินโดนีเซียยังไม่นิ่ง
ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ชี้ว่า การบริโภคในครัวเรือนหดตัวลงน้อยกว่าเดิมในไตรมาส 4 คือหดตัวลง 3.6% หลังจากเคยดิ่งลง 4.1% ในไตรมาสก่อนหน้า สุฮาริยันโตระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวในช่วงสิ้นปีช่วยหนุนยอดขายในร้านอาหาร
ทั้งนี้ การบริโภคครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของจีดีพีอินโดนีเซีย
กรุงจาการ์ตามีมาตการคุมเข้มโควิด -19 รอบที่ 2 ในช่วงเดือนก.ย. – ต.ค.และมีการใช้มาตรการคุมเข้มอีกครั้งในเดือนม.ค.ปีนี้ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น
การลงทุนลดลง 6.2% หลังจากเคยดิ่งถึง 6.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลขยายตัวเพียง 1.8% ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีการเติบโตถึง 9.8%
สุฮาริยันโตระบุว่า การผลิตและการส่งออกที่ฟื้นตัวจะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ต้นปี 2564 นี้
ราโอจาก DBS ยังระบุว่า เศรษฐกิจจะได้ประโยชน์จากการส่งออกที่ขยายตัวจากแรงหนุนของราคาโภคภัณฑ์ เงินลงทุนที่กลับเข้ามาไหลเวียนในประเทศ และการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้
ในสัปดาห์นี้ ศรี มุลยานี อินทราวาตี รมว.คลังระบุว่า เธอจะใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจในปีนี้เกือบเท่ากับงบเยียวยาเศรษฐกิจในปีที่แล้วของรัฐบาลคือ 692.5 ล้านล้านรูเปีย ( หรือราว 1.48 ล้านล้านบาท) ขณะที่ธนาคารกลางอินโดฯ สัญญาจะใช้ทุกนโยบายเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในปีนี้