สหรัฐฯขู่คว่ำบาตรทหารเมียนมาอีกรอบ
สหรัฐฯ ขู่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรกับบรรดานายพลเมียนมาอีก หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตย และควบคุมตัวนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และจนถึงตอนนี้ ยังไม่ทราบว่าเธอถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน หลังถูกจับกุมนานกว่า 24 ชม.
แหล่งข่าวนักการทูตระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำหนดจะประชุมกันในวันที่ 2 ก.พ. ท่ามกลางเสียงตำหนิจากนานาชาติที่มีการจับกุมนางซูจีและนักการเมืองพันธมิตรของเธอ
กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารหลังพรรค NLD ของนางซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว โดยกองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและกล่าวหาว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการสวมสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง แม้กกต.จะยืนยันว่าไม่พบสิ่งผิดปกติในการเลือกตั้งก็ตาม
กองทัพให้อำนาจกับพลเอกมินอ่องหล่าย ผบ.สูงสุดเป็นผู้นำประเทศและประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 1 ปี ดับความหวังของประเทศที่จะกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพในการปกครอง หลังตกอยู่ภายใต้การบริหารของเผด็จการทหารมายาวนานหลายทศวรรษ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯระบุว่า การทำรัฐประหารเป็นการทำลายกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยของเมียนมาและหลักนิติธรรมโดยตรง และระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะจับตาดูท่าทีของประเทศอื่นๆที่มีกับการทำรัฐประหารครั้งนี้
“สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาที่มีมานานในทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากมีความก้าวหน้าในกระบวนการประชาธิปไตย แต่การทำลายกระบวนการจะมีผลทำให้เราทบทวนมาตรการคว่ำบาตรของเรา และจะมีการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป” ไบเดนระบุในแถลงการณ์
“ เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราในภูมิภาคและทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม รวมถึงจับตาการโค่นล้มการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตย”
วิกฤตในเมียนมาเป็นหนึ่งในบททดสอบสำคัญของไบเดนที่จะประสานความร่วมมือกับชาติพันธมิตรในการรับมือกับความท้าทายระดับนานาชาติ โดยเฉพาะเมื่อจีนมีอิทธิพลมากขึ้นในเวทีโลก ซึ่งเป็นจุดยืนที่ตรงข้ามกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่มักจะเน้นที่นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ คือคำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯเท่านั้น
สหประชาชาติเป็นผู้นำในการประณามการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางซูจีและคนอื่นๆในรัฐบาลทันที ขณะที่หลายประเทศล้วนประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันทั้งออสเตรเลีย สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้ร่วมประณามด้วย โดยระบุว่า จีนจับตาดูเหตุการณ์นี้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประเทศอื่นๆในอาเซียน เช่นไทย ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับกิจการภายในของเมียนมา
ถนนหลายสายในเมียนมาเงียบเหงายามค่ำคืนในช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวมาก่อนหน้านี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีทหารและตำรวจประจำการในเมืองหลวงคือกรุงเนปิดอว์ และย่างกุ้ง เมืองศูนย์กลางการค้าสำคัญ
ในเช้าวันที่ 2 ก.พ. โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตใช้การได้อีกครั้ง แต่ตลาดที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงา และสนามบินในเมืองศูนย์กลางการค้าอย่างย่างกุ้งก็ถูกปิด ขณะที่ธนาคารกลับมาให้บริการอีกครั้งในวันที่ 2 ก.พ. หลังระงับบริการไปในวันก่อนหน้านี้เนื่องจากมีประชาชนพากันมาถอนเงินสดออกไปจำนวนมาก
นางซูจีเรียกร้องให้มีการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารในแถลงการณ์ที่เธอร่างเตรียมไว้ก่อนหน้าที่จะถูกจับเมื่อวันที่ 1 ก.พ. แต่ยังไม่มีรายงานเหตุความไม่สงบ
ในการกระชับอำนาจในครั้งนี้ ทางกองทัพได้ปลด 24 รัฐมนตรีออกจากรัฐบาลปัจจุบัน และแต่งตั้ง 11 รัฐมนตรีของตัวเองที่จะกำกับดูแลด้านการเงิน กลาโหม ต่างประเทศและกิจการภายในประเทศ
อีกหนึ่งความกังวลของยูเอ็นคือ ชะตาของชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกทหารเมียนมาขับออกจากประเทศ และอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังคลาเทศ
โดยบังคลาเทศ ซึ่งเป็นที่พักพิงของชาวโรฮิงญาประมาณ 1 ล้านคน เรียกร้องให้เมียนมากลับมามีสันติภาพและเสถียรภาพ และระบุว่า มีความหวังว่ากระบวนการในการส่งคืนชาวโรฮิงญากลับเมียนมาจะมีความก้าวหน้าขึ้น