พรรคคอมฯ เวียดนามประชุมเลือกผู้นำใหม่
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2021/01/855.jpg)
ฮานอย – เมื่อวันที่ 25 ม.ค. พรรคคอมมิวนิสต์ที่บริหารประเทศเวียดนามจัดการประชุมสภาครั้งแรกหลังจากปี 2559 โดยมีภารกิจสำคัญคือการเลือกบรรดาผู้นำคนใหม่และกำหนดนโยบายสำหรับ 5 ปีหน้าของเวียดนาม
การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการประชุมสภาครั้งที่ 13 หลังมีการก่อตั้งพรรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามขึ้นในปี 2473 โดยจะมีผู้แทน 1,600 คนจากทั่วประเทศมารวมกันที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศ
ในการประชุมนาน 9 วัน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประชุมแบบปิด) จะมีการเลือกคณะผู้บริหารชุดใหม่ โดยตั้งเป้าเพื่อส่งเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเวียดนามให้รุดหน้า และเพื่อความชอบธรรมตามกฎระเบียบของพรรค
ทั้งนี้ เวียดนามมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวเติบโตในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีมาตรการรับมือที่เข้มงวดจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ทั้งมาตรการกักตัว การตรวจหาเชื้อและการสอบสวนโรค โดยเวียดนามมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมจากโควิด-19 ประมาณ 1,500 ราย และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 35 ราย ซึ่งนับว่าน้อยกว่าประเทศอื่นๆในโลกมาก
เวียดนามจัดอยู่ในกลุ่มไม่กี่ประเทศของโลกที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ โดยประเทศอื่นๆคือ จีน คิวบา ลาวและเกาหลีเหนือ และเวียดนามตั้งเป้าว่าจะมีตัวเลขจีดีพีเติบโตเฉลี่ยถึง 7% ในรอบ 5 ปีหน้า
แต่คณะผู้บริหารชุดใหม่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับสมดุลความสัมพันธ์กับทั้งจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเวียดนามเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเศรษฐกิจโลกของทั้งสองประเทศ
ช่วงหลายเดือนก่อนการประชุม มีการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อคว้าตำแหน่งผู้บริหารประเทศที่มีอยู่จำกัด โดยเวียดนามมีเสาหลักทั้ง 4 ของตำแหน่งผู้นำคือ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานสภาแห่งชาติ
ในปี 2559 มีการเดินหน้าปราบปรามคอร์รัปชั่นในคณะรัฐบาลที่ส่งผลกระทบกับตำแหน่งในพรรค ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า จะมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในภาคส่วนเศรษฐกิจของเวียดนาม และเดินหน้านโยบายในประเทศและต่างประเทศของสภา
โดยตัวเลือกสำคัญสำหรับตำแหน่งใหม่ในสภาเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงการเมืองของเวียดนาม แต่ในเดือนธ.ค. ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่ารายชื่อเป็นความลับสุดยอด เพื่อสกัดไม่ให้มีการถกเถียงเชิงวิพากษ์ ( critical debate)
ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามมีการควบคุมสื่อในประเทศอย่างเข้มงวด และไม่ยอมรับคำวิจารณ์ใดๆ