มาเลเซียติดเชื้อพุ่ง ระบบรพ.อ่วม
กัวลาลัมเปอร์ – ระบบโรงพยาบาลของมาเลเซียถูกกระทบอย่างหนักนานหลายเดือนหลังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ทางการลดการตรวจหาเชื้อไวรัสลงสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
และในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังพยายามหาความช่วยเหลือจากระบบโรงพยาบาลเอกชน
แต่บรรดาแพทย์ด่านหน้าต่างบ่นว่ากำลังหมดแรงจากภาระงานที่หนักเกินไป และมีความเสี่ยงสูงจากผู้ติดเชื้อจำนวนมาก หรือผู้ที่ต้องกักตัว ส่งผลกระทบมากขึ้นกับระบบโรงพยาบาล
มีคำร้องเรียนเรื่องทำงานหนักมากขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว ที่จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงสูงเกิน 3,000 รายเป็นครั้งแรก โดยบรรดาเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ซึ่งต้องสวมชุดป้องกันตลอดเวลาในการทำงาน มีการบ่นผ่านสื่อ โดยไม่ระบุตัวตน
แพทย์จำนวนหนึ่งเริ่มพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยมากขึ้น หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นหลายเท่าเป็น 40,000 ราย ซึ่งต้องใช้เตียงผู้ป่วยกว่า 34,000 ราย เพิ่มขึ้นจาก 29,000 รายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลรัฐและศูนย์กักตัว
“ ผมหวังว่าใครก็ตามที่อ่านโพสต์นี้จะสามารถช่วยผมหาทางออกได้” นายแพทย์มุสตาฟา คามัลโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 15 ม.ค. โดยเขาระบุว่า เขาถูกย้ายไปที่โรงพยาบาลซุนไก บุโลห์ ซึ่งเป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลักของมาเลเซียซึ่งเริ่มเข้าสู่สภาพที่ย่ำแย่
“ผมเห็นเพื่อนร่วมงานล้มลง ทีมผมเดินเข้าออกที่กักตัว พวกเราส่วนใหญ่หมดแรงแล้ว” เขาระบุในโพสต์ โดยเขาอ้างว่า แพทย์ที่เป็นหัวหน้าเขาไม่ยอมให้เขาลาป่วยแม้ทางสาธารณสุขจะยืนยันว่าสามารถทำได้ก็ตาม
แพทย์อีกคนคือนายแพทย์อัลซามานี อิดรอส ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วบ่นเรื่องสถานการณ์ในรพ.กัวลาลัมเปอร์ ระบุว่าผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต้องไปรักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน แทนที่จะเป็นห้องไอซียู นอกจากนี้ เขายังตำหนิผู้ที่ไม่ระวังตัวเองว่า
“ คุณแชร์ภาพที่ยืนห่างกันไม่ถึงเมตรและไม่สวมหน้ากากโดยไม่รู้สึกผิดอะไรเลย แถมภูมิใจด้วยซ้ำ คุณกำลังยิงกระสุนไวรัสมาสู่ด่านหน้า” เขาระบุ
ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นเกิน 4,000 รายเป็นครั้งแรกในวันที่ 9 ม.ค. ทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 11 ม.ค. ซึ่งทำให้ทางการมีอำนาจในการเข้าใช้โรงพยาบาลเอกชน และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง แต่การเจรจายังคงลากยาวยืดเยื้อ
สำหรับตอนนี้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรงพยาบาล รัฐบาลได้ลดขนาดการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ลง
โดยในสัปดาห์ที่แล้ว ทางการหยุดตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด แต่จะเก็บตัวอย่างตรวจเพียง 20 ราย หากจำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำกว่า 50 ราย ซึ่งทำให้จำนวนการตรวจมีเพียง 30 ราย หรือคิดเป็นเพียง 10% ของผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมด
แม้ก่อนหน้านี้ช่วงต้นเดือนม.ค. ผู้เชี่ยวชาญ 46 คนได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซินเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการติดเชื้อเพิ่มเป็น 8% ในปีนี้ สูงกว่าอัตรา 5% ที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นอัตราที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ