มาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉินถึง 1 ส.ค.
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์แห่งมาเลเซียทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยภาวะฉุกเฉินจะมีผลไปจนถึงวันที่ 1 ส.ค. หรืออาจเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโควิด-19
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. สำนักพระราชวังประกาศว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ อาห์มัด ชาห์ ทรงทำตามคำแนะนำของรัฐบาลที่ทูลเกล้าถวายเพื่อให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ถึง 1 ส.ค. หรืออาจยกเลิกก่อนหน้านั้นได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
“ พระองค์ทรงมีความเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศอยู่ในระดับวิกฤต และจำเป็นต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน”
เตียงผู้ป่วยและเตียงผู้ป่วยในห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยจากโควิด-19 เกือบจะเต็มแล้ว การประกาศภาวะฉุกเฉินจึงเป็น
“มาตรการเพื่อควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่พุ่งสูงเป็นเลข 4 หลักตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา”
มาเลเซียรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 2,000 รายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และบางวันสูงเกิน 3,000 ราย ทำให้ระบบโรงพยาบาลเ้าสู่ภาวะใกล้จะทรุดตัว โดยผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่สูงถึง 28,554 ราย ส่งผลทำให้มีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เหลือเพียงประมาณ 100 เตียงในโรงพยาบาลและสถานกักตัว
จนถึงตอนนี้ มาเลเซียมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 555 ราย เพิ่มขึ้นสองเท่านับตั้งแต่ 5 พ.ย.เป็นต้นมา ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 138,224 ราย นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในประเทศ
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 11 ม.ค. นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซินประกาศว่า จะมีการควบคุมการเดินทางใน 5 รัฐ คือมะละกา ยะโฮร์ ปีนัง สลังงอร์และซาบาห์ รวมถึง 3 ดินแดนสหพันธ์คือกรุงกัวลาลัมเปอร์ ลาบวน และปุตราจายา
นับเป็นการยุติกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน และการเดินทางข้ามเขตโดยอนุญาตให้สมาชิก 2 คนจากแต่ละครัวเรือนออกไปซื้อสิ่งของจำเป็น และสามารถเดินทางได้ไม่เกินรัศมี 10 กม.จากบ้าน โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 26 ม.ค.
นอกจากนี้ นายกฯ มูห์ยิดดินยังระบุว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินไม่ใช่การทำรัฐประหาร เพื่อหวังผลเพื่อเป็นการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
“ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลพลเรือนจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ประกาศภาวะฉุกเฉินของพระองค์ท่านไม่ใช่การทำรัฐประหาร และจะไม่มีการประกาศมาตรการเคอร์ฟิว”