บาทแข็งฉุดส่งออกทรุด
“สมคิด” มั่นใจ ธปท.ติดตามค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด หลังกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนก.พ.พบเงินบาทแข็งทำกำไรผู้ส่งออกลดลงไปแล้ว 0.56%
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกดือนก.พ.ล่าสุด เติบโตในระดับกว่า 10% ถือว่าน่าพอใจ แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้น และยังมีการเกินดุลการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้น
โดยมองว่าการส่งออกที่ขยายตัวได้กว่า 10% นั้นไม่ใช่จุดจบ แต่ยังมีสิ่งดีที่ยังรออยู่ข้างหน้า การพัฒนาสู่จุดที่เพิ่มขึ้นยังรออยู่ และประเทศไทยได้ผ่านจุดถดถอยไปแล้ว และกำลังเข้าอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งที่ไทยได้ดำเนินการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะทำในอีก 2-3 ปีที่จะถึง ไปจนถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จะเป็นตัวผลิกโฉม สร้างมิติใหม่ให้เมืองไทย
ทั้งนี้ มองว่าหากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในเทคโนโลยีสามารถเดินหน้าได้ตามแผน จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยในการพลิกประเทศแน่นอน
“ประเทศไทยผ่านจุดถดถอยไปแล้ว ดังนั้นอย่าไปมองว่าเราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ มันฟื้นจากการกระตุ้นมานานแล้ว ตอนนี้เรากำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูป จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นอีกต่อไป อยากให้เปลี่ยนมุมมองกับประเทศไทย ทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ อย่าไปมองอะไรเป็นชิ้น ๆ เป็นโครงการ เช่น ลงทุนรถไฟ รถไฟความเร็วสูง มันไม่ใช่ แต่เจตนาคือไทยมีโอกาสทางเศรษฐกิจมา 2 ปีแล้ว เราเปลี่ยนโอกาสให้เป็นการเติบโตแล้ว และอยากให้คอยดูตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงนี้ที่เชื่อว่าจะขยายตัวได้เป็นอย่างดี” นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออกของไทยเดือนก.พ.2561 มูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.3% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 9.25% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายสมคิด ยังกล่าวว่า ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP )เพราะขณะนี้มีหลายประเทศได้เข้าร่วมไปแล้ว เช่น เวียดนาม เมื่อเข้าร่วมก็ทำให้มีโอกาสส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศอื่น ๆ ง่ายขึ้น ดังนั้นหากไทยไม่ยอมเข้าร่วมก็อาจจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้า และการลงทุนได้
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียจากการเข้าร่วม TPP ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากไทยไม่เข้าร่วมด้วยก็จะเป็นอุปสรรคในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
ส่วนสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามเรื่องนี้อยู่ และที่ผ่านมากระทรวงคลังได้มอบนโยบายให้ ธปท.ไปแล้ว จึงเป็นหน้าที่ที่ ธปท. จะต้องไปดูแลตามสิ่งที่กระทรวงการคลังบอก
“เราไปสั่งการหรือก้าวก่าย ธปท. ไม่ได้ ธปท.รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ ถ้าเงินไหลออกไปพรวดเดียวก็คงไม่ดี และเขาเองก็คงไม่อยากให้ออกไปหมด” นายสมคิด กล่าว
สำหรับสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก ที่ประมาณ 40% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยการกู้เงินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องดูด้วยว่านำไปทำอะไร ที่ผ่านมาไทยกู้เงินเพื่อมาลงทุนด้านดิจิทัล ลงทุนในสิ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ซึ่งสินค้าต่าง ๆ ก็จะโตแบบก้าวกระโดด ตัวเลข GDP ก็จะขยายตัว และตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ก็จะลดลง ดังนั้นเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเงินที่จะเอาไปขับเคลื่อนการลงทุน
“ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเอาเงินไปลงทุนในเรื่องของอนาคต ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้เศรษฐกิจฐานราก ทั้ง 2 ประเด็นเดินหน้าควบคู่ ขนานกันไป ถือเป็นการเอาเงินไปลงทุนในด้านสังคม อีกด้านก็เพื่ออนาคต ซึ่งต่างชาติชื่นชมและเห็นด้วยในสิ่งที่เราทำทั้งหมด ว่าสิ่งที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่นี้ถือเป็นหัวใจของการพัฒนา ทุกอย่างจะต้องสมดุล”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2561 กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.พ. 2561 โดยการส่งออก มีมูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.3% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 9.25% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี2561 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 40,466 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.8% และ นำเข้ามีมูลค่า 39,778 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 20.1% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 688.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.พ.2561 ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.3% ประกอบกับการส่งออกในรายตลาดสามารถขยายตัวได้ดีและสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในทุกตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ เอเชียใต้ อาเซียน และ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) อีกทั้งยังสามารถกระจายไปสู่ตลาดศักยภาพและตลาดใหม่อื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ในขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ส่วนสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในเดือนก.พ.นี้ การส่งออกของไทยในรูปของเงินบาท ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการส่งออกเมื่อคำนวณจากดอลลาร์สหรัฐกลับมาในรูปของเงินบาทแล้วมีรายได้ลดลง แต่ยืนยันว่าในขณะนี้ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออก และยังไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย เนื่องจากยังมีความต้องการสินค้าไทยจากตลาดโลกแม้ราคาจะปรับสูงขึ้นบ้างก็ตาม
“เรื่องเงินบาทแข็งค่า เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกไทยในรูปของเงินบาทให้ลดลงไปบ้าง แต่ยังไม่กระทบความ สามารถในการแข่งขันมากนัก เพราะสินค้าไทยยังมี demand สูง แม้จะมีราคาแพงขึ้น ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร และอาหาร” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
พร้อมยืนยันว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นยังไม่กระทบกับภาพรวมการส่งออกไทย โดยยังเชื่อว่าปีนี้การส่งออกไทยจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8% เนื่องจากการวางเป้าหมายการส่งออกของไทยจะคำนวณในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันยังไม่เห็นสัญญาณของผลกระทบจากปัญหาการกีดกันทางการค้าที่มีต่อการส่งออกของไทย ประกอบกับการค้าโลกยังสามารถเติบโตได้ดี เพียงแต่ต้องติดตามสถานการณ์การกีดกันทางการค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
สำหรับการส่งออกของไทยในปี2561 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ 3.9% ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลก และการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามด้วย
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรโลกที่มีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศด้วย.