รัฐบาลตั้งเป้า 18 ด. ฟื้นคืนเศรษฐกิจไทย
“รองฯสุพัฒนพงษ์” เดินสายขอบคุณกระทรวงการคลัง มั่นใจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เชื่อ! จากนี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว ตั้งเป้าภายใน 18 เดือน พร้อมมอบนโยบาย 3 ด้านให้เร่งเดินหน้า “ปฏิรูปภาษี – หนุนอุตฯสมัยใหม่ – ปรับกฎระเบียบ” ยกระดับการแข่งของไทยในอนาคต
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่กระทรวงการคลัง โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อช่วงบายวันที่ 4 ธ.ค.2563
จากนั้นให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ต้องการมาขอบคุณที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลจนสามารถผลักดันให้การดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลผ่านพ้นไปด้วยดี ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 2 และมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2563
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก การดำเนินมาตรการของกระทรวงการคลังที่ดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึง มาตรการและโครงการต่างๆ
โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่กระทรวงการคลังได้นำดำริของนายกรัฐมนตรีมาดำเนินการจนเห็นผลชัดเจน ส่วนตัวมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยจากนี้ไป กระทรวงการคลังควรมุ่งเน้นภารกิจ 3 ด้าน
1.ด้านนโยบายการคลังการเงิน เช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม การดูแลภาวะสินเชื่อของภาคธุรกิจและหนี้สินของภาคประชาชน เพื่อให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ได้
2.ภารกิจการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากล
และ 3.ภารกิจการปรับกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ความโปร่งใส มีความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกต่อประชาชนมากขึ้น
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยเร่งรัดให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องทันสถานการณ์ โปร่งใส ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งวินัยทางการเงินการคลัง นอกจากนี้ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ จำเป็นต้องประสานความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
“การฟื้นคืนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสู่ภาวะปกติ เช่นปี 2562 จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินโครงการและมาตรการต่างๆ ผ่านการใช้มาตรการการเงินและการคลัง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี” รองนายกรัฐมนตรี ระบุและว่า
รัฐบาลคาดหวังจะเห็นการฟื้นตัวดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 18 เดือนนับจากนี้ (กลางปี 2565) เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสร้างจุดแข็งให้กับประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนที่เน้นการใช้เทคโนโลยีระดับสูงจากต่างประเทศเข้ามายกระดับการผลิตในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคมขนส่ง เช่น ทางด่วนมอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศผ่าน BOI รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีและปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ที่อิงดิจิทัล เทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มในการดำเนินงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณเพื่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ไปแล้วราว 1.5% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน หากจำเป็นก็จะต้องซื้อและนำเข้าเทคโนโลยขั้นสูงจากต่างประเทศ รวมถึงเชิญชวนให้ธุรกิจอุตสาหกรรมไฮเทคเข้ามาลงทุนในอีอีซี ที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมรองรับไว้หมดแล้ว
“ภายใน 6 เดือนข้างหน้า หากนักลงทุนต่างประเทศไม่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะกับพื้นที่อีอีซี ทั้งที่รัฐบาลได้จัดเตรียมความพร้อมรองรับไว้หมดแล้ว ปัญหาคงเป็นเรื่องอื่นแล้ว ไม่ได้เกิดมาจากรัฐบาล” นายสุพัฒนพงษ์ ย้ำ
ด้าน นายอาคม กล่าวเสริมว่า นอกจากภารกิจงานในด้านต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายข้างต้นแล้ว กระทรวงการคลังจะได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบภาษีการบริหารรายได้ของรัฐบาล และการรักษาวินัยการเงินการคลัง การปรับปรุงการปฏิบัติงานของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลังให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน (Ease of Doing Business) รวมทั้งดำเนินมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพต่อไป.